กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--วธ.
นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงวัฒนธรรม และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในการจัดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม (การเรียนการสอนทางไกล/หลักสูตรภาษาไทย) ซึ่งเป็นความร่วมมือต่อเนื่องเป็น ฉบับที่ 4 รุ่นที่ 9 — 11 ตั้งแต่ปี 2556 — 2561 เพื่อพัฒนาบุคลากรของกระทรวงวัฒนธรรมให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้น โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะจัดส่งบุคลากรเข้าศึกษาจำนวน 3 รุ่น รุ่นละไม่น้อยกว่า 5 คน และจะสนับสนุนผู้รับทุนคนละไม่เกิน 4 ปีการศึกษา ขณะนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 5 รุ่น จำนวน 162 คน ทั้งนี้ สองหน่วยงาน ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาบุคลากรของกระทรวงวัฒนธรรม และบุคลากรในสายงานวัฒนธรรม รวมทั้งสายงานที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ด้านการจัดการวัฒนธรรม โดยการจัดการเรียนการสอนระดับมหาบัณฑิตด้านการจัดการทางวัฒนธรรม เพื่อให้บุคลากรดังกล่าว สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้าราชการของกระทรวงวัฒนธรรมที่จบจากหลักสูตรนี้ ส่วนใหญ่ก้าวสู่ระดับ 9 หรือดำรงตำแหน่งวัฒนธรรมจังหวัดที่ประจำอยู่ทั่วประเทศ และมีระดับเทียบเท่ากับรองผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะทำงานในเชิงของการบริหารทางด้านองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทุกด้าน อย่างไรก็ตาม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่สถาปนาได้ไม่นาน และเปิดรับข้าราชการใหม่จำนวนมาก เพราะฉะนั้น อย่างน้อยข้าราชการทุกคนจะต้องรอบรู้ศิลปะ เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการบริหารงานด้านวัฒนธรรม ดังนั้น หลักสูตรดังกล่าวจะสามารถพัฒนาบุคลากรของกระทรวงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างมาก” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในบรรดาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั้งหมด 500 หลักสูตร หลักสูตรนี้ทางมหาวิทยาลัยมีความภาคภูมิใจที่สุด เพราะผู้ที่เข้ารับการศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเป็นหลักสูตรที่ประสมประสานระหว่างศาสตร์หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน