กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวัน "วัณโรคสากล ปี 2556" เน้นยุทธศาสตร์ค้นให้พบ จบด้วยหาย ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0 โดยเฉพาะผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ
18 มีนาคม 56 รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางนภา ศกุนตนาค ให้เกียติเป็นประธานเปิดการรณรงค์ วันวัณโรคสากล “เมืองไทย ปลอดวัณโรค” ณ ศูนย์ OTOP อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับศูนย์คาทอลิกเชียงของ จังหวัดอุบลราชธานี และเครือข่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดรณรงค์วันวัณโรคสากล ประจำปี 2556 (World TB Day) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน วัยรุ่น วัยทำงาน กลุ่มเสี่ยง มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดต่อ อาการ การรักษา การปฏิบัติตัว และการอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยวัณโรค เน้นยุทธศาสตร์ ค้นให้พบ จบด้วยหาย ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0 โดยเฉพาะผู้ขับรถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นอาชีพที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทั่วไปจำนวนมาก มีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ การรับเชื้อโรคจากผู้โดยสารที่เจ็บป่วย
นางนภา ศกุนตนาค รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ เป็นจุดศูนย์รวมของการคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ แต่ละวันมีประชาชนที่ต้องผ่านไปมาที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจำนวนมาก คนขับโดยสารสาธารณะ เช่นคนขับรถแท็กซี่ คนขับรถสองแถว คนขับรถตู้ และ อื่นๆ ย่อมจะต้องมีความใกล้ชิดกับผู้โดยสารอยู่แล้ว ถ้าคนขับรถมีโรคติดต่อ อาจจะทำให้ผู้โดยสารติดโรคได้ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นผู้โดยสารมีความมั่นใจว่า คนขับรถมีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นโรคติดต่อ ดังนั้นจังหวัดอุบลราชธานี ขอมอบนโยบายการดำเนินงาน ให้หน่วยงานสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือในการให้ความรู้ และดำเนิน ดังนี้ คือ เร่งค้นหา รีบรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันวัณโรคดื้อยา
ด้าน นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า สถานการณ์โรควัณโรค ในปี 2554 พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ขึ้นทะเบียนรักษา 65,800 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2554 เช่นกัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยรายใหม่ 8.4 ล้านคน และเสียชีวิตปีละ 1.4 ล้านคน ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของสาเหตุการตายของโรคติดเชื้อ สำหรับประเทศไทยวัณโรคยังคงเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหารุนแรง โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เกิดการดื้อยาหลายขนาน และเป็นการดื้อยาอย่างรุนแรง ซึ่งในบ้านเราพบผู้ป่วยประเภทนี้ประมาณ 2,000 คน และการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของคนขับแท็กซี่ ตรวจสุขภาพทั้งระบบ ตรวจสมรรถภาพความพร้อมของร่างกาย เรียกว่าให้สุขภาพจิตดีทั้งคนขับและผู้โดยสาร ซึ่งหากใครผ่านการตรวจสุขภาพแล้วก็จะได้รับสติ๊กเกอร์ของโครงการ และโครงการนี้หวังว่าจะช่วยแนะนำ และให้ความรู้เบื้องต้นต่อผู้ให้บริการแท็กซี่ และยังสามารถนำความรู้ไปแนะนำคนอื่นต่อด้วย ซึ่งต่อไปภายหน้าอยากขยายให้เป็นเครือข่ายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ และสามารถรับรู้ถึงปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ขับรถแท็กซี่ที่ต้องการใช้บริการตรวจสุขภาพฟรี สามารถรับบริการได้ที่ศูนย์สาธิตบริการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 21 และ 22 มีนาคมนี้ เพียงแสดงหลักฐานคือบัตรประจำตัวประชาชนและใบอนุญาตขับรถสาธารณะเท่านั้น