นักวิชาการร่วมรณรงค์การเลือกตั้งนายกเล็กเมืองอุบล

ข่าวทั่วไป Wednesday March 20, 2013 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี นักวิชาการร่วมสื่อมวลชนวิเคราะห์นโยบายผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี มองเป็นมิติใหม่ปรับโฉมเมือง แต่ติงมองนโยบายพื้นฐานความสะอาด น้ำเสีย ความร่มรื่น ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญด้วย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2556 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพาน จากการสนับสนุนของ USAID ร่วมกับนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการปกครองส่วนท้องถิ่นวิเคราะห์นโยบายผู้สมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดให้มีการลงคะแนนในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคมศกนี้ มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการและมีประชาชนในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ให้ความสนใจเข้ารับฟัง โดยผู้ดำเนินรายการระบุว่าตั้งใจเชิญผู้สมัครที่คาดได้รับเลือก 2 คน คือ ผู้สมัครหมายเลข 1 น.ส.สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ และผู้สมัครหมายเลข 2 นางรจนา กัลป์ตินันท์ มาชี้แจงนโยบายหาเสียงด้วยตนเอง แต่ผู้สมัครทั้ง 2 ไม่สะดวก จึงเหลือแต่นักวิชาการ 2 คน คือ นายนพพร พันธ์เพ็ง นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และนายสุเชาว์ มีหนองหว้า อาจารย์สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีจะมาวิเคราะห์นโยบายใช้หาเสียงของผู้สมัคร โดยก่อนเริ่มรายการมีการฉายวีทีอาร์นำเสนอนโยบายของผู้สมัครทั้ง 2 รายให้ประชาชนที่เข้าร่วมได้ชม นายนพพร พันธ์เพ็ง นักวิชาการและสื่อมวลชนอิสระกล่าวถึงนโยบายหาเสียงผู้สมัครหมายเลข 1 น.ส.สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ เป็นผู้สมัครหน้าใหม่และเสนอเรื่องแปลกใหม่ ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าของเมืองไปจากเดิม อาทิการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน รถรับส่งนักเรียน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจพัฒนาชุมชนแต่ละแห่ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ศักยภาพของนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี ทำได้ทันที เพราะใช้งบประมาณไม่มาก แต่สำหรับข้อเสนอทำขนส่งมวลชนระบบราง โดยทำรถรางเชื่อมระหว่างเทศบาลเมืองวารินชำราบและเทศบาลนครอุบลราชธานี นักวิชาการรายนี้บอกว่าเป็นเรื่องยาก เพราะเทศบาลนครอุบลราชธานีมีงบประมาณและรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพียงปีละ 500 ล้านบาท โดย 60% เป็นงบใช้จ่ายประจำ จึงเหลือเพียงร้อยละ 40 ที่จะนำมาใช้พัฒนาแต่หากผู้สมัครคนนี้ มีคนหนุนหลังเข้มแข็ง ก็อาจทำได้ แต่ไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว "แต่สิ่งที่ทำได้ในระบบขนส่งมวลชนคือ ทำรถเมล์ประจำทางให้ครอบคลุมพื้นที่ และจัดให้รถออกตรงเวลา ก็จะช่วยแก้ปัญหาในการเดินทางของประชาชนลดการซื้อรถจักรยานยนต์มาวิ่งบนท้องถนน" ส่วนนโยบายของผู้สมัครหมายเลข 2 นางรจนา กัลป์ตินันท์ อดีตนายก 2 สมัยซึ่งใช้สโลแกนขอสานงานเก่า ต่องานใหม่ จึงเป็นผู้สมัครที่มีผลงานทั้งการปรับโฉมหน้าตลาดใหญ่ การทำสวนสาธารณะห้วยวังนองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และเสนองานใหม่คือ การทำสะพานเชื่อมระหว่างเมืองวารินชำราบกับเทศบาลนครอุบลราชธานีอีกหลายจุด การเสนอนโยบายและการหาเสียง จึงเป็นการแสดงผลงานเก่าไม่มีอะไรใหม่และการใช้คำว่า "เทศบาลนครไม่ใช่ที่ทดลองงาน" ก็สะท้อนกลับไปเมื่อ 8ปีก่อนที่คุณรจนาได้รับเลือกตั้งเข้ามา เพราะคนในเทศบาลนครอุบลราชธานีต้องการทดลองงานคนใหม่ "แต่การพัฒนาเมืองที่ผ่านมา คุณรจนาไม่ฟังเสียงชาวชุมชนเพราะคิดว่าทำก่อนแล้วจะไม่ได้รับการต่อต้าน จึงเป็นจุดอ่อนที่ไม่ให้ชุมชนร่วมตัดสินใจ" นักวิชาการรายนี้ยังเสนอว่า สิ่งสำคัญในการพัฒนาเมืองคือต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นเมืองสีเขียวมีความร่มรื่น เป็นเมืองสะอาด เป็นเมืองแห่งความปลอดภัยในการจราจร และทรัพย์สิน" ใครทำได้ตามนี้จะเป็นนายกไปได้อีกนาน ขณะที่นายสุเชาว์ มีหนองหว้า อาจารย์สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีกล่าวถึงการเลือกตั้งเทศบาลนครอุบลราชธานี ไม่ต่างจากการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เพราะมีพรรคการเมืองหนุนหลังผู้สมัครทั้ง 2 ฝ่ายจึงไม่ต้องสงสัยเรื่องใครเป็นนอมินีใคร แต่ถ้ามองนโยบายหาเสียงของผู้สมัครหมายเลข 1 น.ส.สมปรารถนาเรื่องทำรถราง ขณะนี้ยังเป็นความฝัน เพราะถนนที่มีอยู่ไม่เพียงพอให้รถแล่นแต่การเสนอขยายพื้นที่รองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์หรือการทำทางยกระดับข้ามสี่แยกดงอู่ผึ้ง เป็นเรื่องดีที่คนมาเป็นผู้บริหารต้องคิด เหมือนการบริหารเมืองใหญ่ เช่นนครขอนแก่น นครอุดรธานีซึ่งปัจจุบันพัฒนาเมืองรุดหน้าไปไกลกว่านครอุบลราชธานีมาก แต่สิ่งที่ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายไม่นำเสนอเลยคือ การรับมือกับปัญหาขยะและน้ำเน่าเสีย เพราะอนาคตเมืองขยายตัวมาก จะมีปัญหาเรื่องความสะอาด ต้องเตรียมรับสถานการณ์ด้านนี้ไว้ก่อน รวมทั้งมองว่าการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารต้องประสานชุมชนไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเทศบาลกับชุมชนและคำนึงถึงเรื่องปากท้องของคนในชุมชน นักวิชาการยอมรับว่าในส่วนของผู้สมัครหมายเลข 2 นางรจนา กัลป์ตินันท์อดีตนายก 2 สมัยมีผลงานให้เห็นมาก่อน แต่สำหรับผู้สมัครหน้าใหม่อย่างหมายเลข 1 น.ส.สมปรารถนา มีโครงการใหม่ๆน่าสนใจในการนำเสนอนโยบายหาเสียงมากกว่า ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมรับฟังได้เสนอความเห็นต้องการให้ผู้บริหารคนใหม่รับฟังความเห็นจากชุมชนก่อนจะนำโครงการพัฒนาต่างๆเข้ามา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของชุมชน ให้แก้ปัญหาจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น จัดพื้นที่สีเขียวคืนความร่มรื่นตามถนนและชุมชนดูแลความสะอาดพื้นที่สาธารณะ และรักษาความปลอดภัยในชุมชนสำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุบลราชธานีมีผู้สมัครทั้งสิ้น 4 คน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งเทศบาลนครอุบลราชธานี ตัดสิทธิไม่รับสมัครผู้สมัครหมายเลข 3 น.ส.นิธิยาภักค์ ภคพลนิธนชัย เนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปีที่ผ่านมา ส่วนผู้สมัครหมายเลข 4 คือ น.ส.พิศทยา ไชยสงคราม ซึ่งไม่มีการหาเสียงใดใดทั้งสิ้น คาดจะทราบผลอย่างไม่เป็นทางการไม่เกิน 19.00 น. วันที่ 24 มีนาคมนี้ มีการถ่ายทอดสดการรายงานผลการเลือกตั้งฯโดยรวมใจสื่ออุบล ประกอบด้วยเคเบิ้ลทีวีทุกแห่งเวปไซต์และวิทยุชุมชน 12 แห่งในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ