เครื่องปั้มระบบไฮดรอลิกพร้อมแม่พิมพ์แบบผสมสำหรับปั้มขึ้นรูปฆ้องเล็ก ฝีมือ เด็ก.มทร.ธัญบุรี

ข่าวทั่วไป Thursday March 21, 2013 11:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี ฆ้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแหล่งผลิตฆ้องที่สำคัญของไทยในปัจจุบันอยู่ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยฆ้องที่ทำการผลิตมีมากมายหลายชนิดและหลายขนาด ส่วนใหญ่จะเป็นฆ้องขนาดใหญ่ที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ ต่อมาได้มีการต่อยอดธุรกิจโดยการผลิตฆ้องขนาดเล็กขึ้นจากเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิตฆ้องขนาดใหญ่ เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกหรือของชำร่วย เช่น พวงกุญแจรูปฆ้อง หรือเป็นของฝากประจำจังหวัดอุบลราชธานี จากสอบถามจาก นายบุญรักษ์ สีชนะ ผู้นำแนวคิดใหม่มาต่อยอดธุรกิจนี้ พบว่ากำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เนื่องจากนายบุญรักษ์ เพิ่งจะเริ่มทดลองการผลิต จึงนำอุปกรณ์ของเหลือใช้ หรือหาซื้อจากร้านของเก่า มาทดลองสร้างเครื่องโดยใช้กระบอกไฮดรอลิกกับปั๊มแบบคันโยกทำให้การผลิตทำได้ช้า ได้ผลผลิตน้อย ส่งผลให้สูญเสียโอกาสการจำหน่ายไปอย่างมากมาย ประกอบกับขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการออกแบบแม่พิมพ์ จึงได้แม่พิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพ เกิดการสึกหรออย่างรวดเร็ว ฆ้องเล็กชิ้นงานที่ผลิตขึ้นมีขนาดไม่เท่ากัน ส่งผลให้ชิ้นงานที่ผลิตไม่ได้คุณภาพ จากปัญหาดังกล่าว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 (หลักสูตรต่อเนื่อง) ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ประกอบด้วย “ต้อม” นายอมรเทพ มโนสา “วัฒน์” นายสุวัฒน์ ทับทิมทอง “พี” นายพีรภัทร เต็งวิเศษ “ป๊อบ” นายสรายุทธ อาจน้อย และ “ฐาน” นายธนรัตน์ ดีมาก จึงได้คิด “เครื่องปั้มระบบไฮดรอลิกพร้อมแม่พิมพ์แบบผสมสำหรับปั้มขึ้นรูปฆ้องเล็กต้นแบบ” ขึ้นมา โดยมี ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาประดิษฐกรรมเพื่อชนบท สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ป๊อบ ตัวแทนเจ้าของผลงาน เล่าว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทีมงานมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีการผลิตที่ใช้กันในภาคอุตสาหกรรมที่ได้ศึกษามา นำมาถ่ายทอดไปสู่ชุมชน ซึ่งมีส่วนประกอบหลักอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน คือ การออกแบบและการสร้างแม่พิมพ์ปั๊มขึ้นรูปแบบผสมคือสามารถตัดและปั๊มขึ้นรูปฆ้องเล็กได้ในขั้นตอนเดียว และเครื่องปั้มระบบไฮดรอลิกที่ควบคุมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า มีแรงดันสูงสุด 5 ตัน สามารถปั๊มวัสดุแผ่นทองเหลือง และวัสดุแผ่นเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ ที่มีความหนาตั้งแต่ 0.5 — 1 มิลลิเมตร และสามารถปั๊มขึ้นรูปฆ้องเล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของชิ้นงานภายในหลังขึ้นรูปโตเท่ากับ 25.00 ? 0.5 มิลลิเมตร และมีความลึกเท่ากับ 8.00 ? 0.5 มิลลิเมตร ใช้คนควบคุมการทำงานเพียงคนเดียวและสามารถทำการผลิตได้ที่ 20 ชิ้นต่อนาที โดยชิ้นงานที่ผลิตได้จากเครื่องมีรูปร่างสวยงาม นอกจากนี้ยังลดเวลาการเตรียมชิ้นงาน ก่อนจะนำมาลงสีและลวดลายหัตถกรรมด้วยคนเพื่อยังคงภูมิปัญญาชาวบ้านแบบดั้งเดิม มีเสน่ห์ดึงดูดใจด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมของไทย นอกจากนั้นโครงการนี้ยังสามารถนำวัสดุที่เหลือจากการทำฆ้องตัวใหญ่มาทำการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้นได้อีกด้วย จากเดิมที่ผลิตฆ้องเล็กเพื่อทำเป็นพวงกุญแจ ขายเป็นสินค้าที่ระลึก และของชำร่วยในงานแต่งงาน สามารถขายได้ชิ้นละ 6-8 บาท แต่ปัจจุบันขายชิ้นละ 15 บาท สำหรับฆ้องที่ทำจากวัสดุทองเหลือง ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ โดยเป็นผู้ผลิตรายแรกและรายเดียวในประเทศ สร้างรายได้กว่าห้าหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งต้นทุนในการผลิตเครื่องนี้อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท (รวมราคาเครื่องและแม่พิมพ์) ปัจจุบันมียอดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 3,000 ชิ้นต่อเดือน โดยมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 2.5 ปี เครื่องดังกล่าวสามารถขึ้นรูปต่างๆ ได้ ถ้าหากมีการเปลี่ยนแม่พิมพ์ เช่น รูปหัวใจ นอกจากนี้ เครื่องปั้มระบบไฮดรอลิกพร้อมแม่พิมพ์แบบผสมสำหรับปั้มขึ้นรูปฆ้องเล็กต้นแบบ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรมและหัตถกรรม โครงการอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะงานวิจัยและการประกวดงานวิจัยของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อีกด้วย ผู้สนใจเครื่องปั้มระบบไฮดรอลิกพร้อมแม่พิมพ์แบบผสมสำหรับปั้มขึ้นรูปฆ้องเล็กต้นแบบ สอบถามรายละเอียดได้ที่ ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เบอร์โทรศัพท์ 02-549-3440 หรือ ทาง www.rmutt.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ