สถาบันอาหาร ยกระดับบุคลากรอุตสาหกรรมอาหารรับมือ AEC

ข่าวทั่วไป Thursday March 21, 2013 12:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สถาบันอาหาร สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนาครั้งใหญ่ ยกระดับนักพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยก้าวไกลสู่ระดับสากล หรือ Food Industries Develop : Training Fair 2013 ติวเข้มบุคลากรทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป เตรียมพร้อมรับมือ AEC ทั้งส่วนงานการผลิต งานควบคุมการผลิต งานการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยวิทยากรมืออาชีพมากประสบการณ์ เน้นกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในระยะยาว จัดอบรม 2 วัน พร้อมกันกว่า 300 คน 3 กลุ่มหลักสูตร รวม 6 หัวข้อ ระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค. นี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็คเมืองทองธานี หวังเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และประสิทธิภาพบุคลากรให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยทัดเทียมนานาประเทศ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็คเมืองทองธานี///นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เตรียมคน เตรียมองค์กร นับถอยหลัง AEC” ในงานสัมมนา เรื่อง ”การยกระดับนักพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยก้าวไกลสู่ระดับสากล หรือ Food Industries Develop : Training Fair 2013” ซึ่งจัดโดย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 20 - 21 มีนาคม 2556 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก(Thailand Food Quality to the World) และโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย(Thailand Food Forward) ว่า สำหรับบุคลากรในวงการอุตสาหกรรมอาหาร การเพิ่มพูนความรู้และปฏิบัติงานในสายการผลิตจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ และเตรียมความพร้อมทั้งในภาคทฤษฎี ด้วยการทำความเข้าใจในเนื้อหาของการบริหารจัดการด้านต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับ ของการผลิตอาหารแต่ละชนิด ส่วนภาคปฏิบัติ คือการลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำ เช่น การใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์อย่างถูกต้องและเหมาะสม การนำความรู้ต่างๆ เหล่านี้ไปปรับและประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องตามลักษณะ และเนื้อหาของงานจะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมาย ในฐานะที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ด้วยข้อได้เปรียบหลายประการ อาทิ ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศที่อยู่กึ่งกลางภูมิภาค และมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าทุกประเทศในกลุ่ม AEC ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจมีอัตราสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ สิ่งอำนวย ความสะดวกต่างๆ คุณภาพของผู้ประกอบการ นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับการยอมรับในการซื้อขายในหลาย ประเทศ อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขบางประการ อาทิ การลดจุดอ่อนของภาคการผลิตที่พบว่ายังมีประสิทธิภาพในการผลิตน้อย โดยเฉพาะผลิตภาพแรงงาน และประสิทธิภาพของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานการผลิตในระดับสากล ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่าสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยแล้ว มีผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่มากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งล้วนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันผลิตภาพของประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาว“ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เตรียมความพร้อมในการจะเข้า สู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยเร็วที่สุด ซึ่งการที่อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คงมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ผู้ประกอบการไทยต้องมีการเตรียมตัวรองรับ ควบคู่ไปกับการดำเนินการเชิงรุก เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการรวมตัวนี้ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง” นายประเสริฐ กล่าว ด้านนายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหารให้มีความรู้ ความเข้าใจทางด้านกฎหมาย กระบวนการแปรรูปอาหาร และการตลาดสำหรับธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ซึ่งมีด้วยกันทั้งสิ้น 3 กลุ่มหลักสูตร คือ 1) กลุ่มหลักสูตรกระบวนการแปรรูปสำหรับพนักงานส่วนงานการผลิต ได้แก่ หลักสูตร เทคโนโลยีแช่เยือกแข็งสำหรับผู้ประกอบการด้านธุรกิจอาหารหลักสูตรการประยุกต์ใช้ไฮโดรคอลลอยด์ (Hydrocolloid)สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร หลักสูตร การวางแผนและควบคุมการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และหลักสูตรแนวทางการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์และการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการตลาด 2) กลุ่มหลักสูตรกฎหมายอาหารสำหรับพนักงานส่วนงานควบคุมการผลิต ได้แก่ หลักสูตรแนวทางเตรียมความพร้อมก่อนบังคับใช้กฎหมายGMPอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และ 3) กลุ่มหลักสูตรการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร สำหรับพนักงานส่วนงานการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หลักสูตรพฤติกรรมผู้บริโภคสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องหลายท่านมาให้ความรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ทางสถาบันอาหารยังได้จัดให้มี“ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร” โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ภายในงานอีกด้วย นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า “การอบรมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 300 ราย เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากอุตสาหกรรมอาหารประเภทผัก ผลไม้ (รวมธัญพืช) อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม(ทั้งที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์) เครื่องปรุงรส อาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยหลักสูตรพฤติกรรมผู้บริโภคสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมากเป็นพิเศษ เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับหลักสูตรการประยุกต์ใช้ Hydrocolloid ในอุตสาหกรรมอาหาร ที่จะได้รับการถ่ายทอดถึงประโยชน์และคุณสมบัติของสาร Hydrocolloid ที่ช่วยให้สินค้าอาหารมีความคงตัว ซึ่งเป็นหลักสูตรเฉพาะของกลุ่มสินค้า เบเกอรี่ และขนมหวาน รวมถึงผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ” จากการตอบรับของผู้ประกอบการ แสดงให้เห็นถึงความต้องการในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรในทุกสายงานโดยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้ตรงกับธุรกิจของตนเองได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด ประกอบกับในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นการเตรียมตนเองให้มีความพร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรจึงนับว่ามีความจำเป็นอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ