กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
บทความ
หยุด...วัณโรค ไว้ที่ช่วงชีวิตเรา
โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
วันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “World TB Day” หรือ ในชื่อภาษาไทยที่ปี พ.ศ. 2556 นี้ กรมควบคุมโรคและภาคีเครือข่ายได้เปลี่ยนจาก "วันวัณโรคโลก" เป็น "วันวัณโรคสากล” โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. Robert Koch ผู้ค้นพบเชื้อวัณโรคในปี พ.ศ. 2425 และเพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโรควัณโรค ซึ่งคร่าชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่มีการค้นพบเชื้อวัณโรคในมัมมี่อียิปต์เมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล น่าแปลกใจที่แม้ปัจจุบันจะมียารักษาวัณโรคที่ดีเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคได้เลย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกใน ปี พ.ศ. 2554 ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรคกว่า 8.7 ล้านคน ในจำนวนนี้พบผู้เสียชีวิตจากวัณโรคสูงถึง 1.4 ล้านคน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แล้วเราจะช่วยกันหยุดยั้งวัณโรคได้อย่างไร ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพจะพาไปคำตอบ
โรควัณโรค (Tuberculosis) เรียกย่อๆว่าโรค TB (ทีบี) หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่า “ฝีในท้อง” เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Mycobacterium Tuberculosis เชื้อวัณโรคทำให้เกิดโรคได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย และที่พบการติดเชื้อวัณโรคมากที่สุดถึงร้อยละ 85 คือ “วัณโรคปอด” ส่วนการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นจะถูกเรียกรวมว่า “วัณโรคนอกปอด” เช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง ช่องท้อง ไต กระดูกสันหลัง ผิวหนังหรือแม้แต่ที่เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น เชื้อวัณโรคสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งผ่านทางละอองเสมหะ ด้วยการไอหรือจาม โดยไม่ใช้ผ้าปิดปาก ละอองเสมหะที่มีขนาดใหญ่มักตกลงสู่พื้น ในขณะที่ละอองฝอยที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน สามารถลอยอยู่ในอากาศ และพร้อมที่จะถูกสูดเข้าสู่ทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะแพร่เชื้อนี้สู่ผู้อื่นได้อีก แต่ถ้ารักษาด้วยยาต้านเชื้อวัณโรคแล้วอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ปริมาณเชื้อจะลดลงมาก ทำให้โอกาสแพร่เชื้อลดลง ในทางปฏิบัติแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องพักแยกจากผู้อื่นอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์แรกเมื่อเริ่มการรักษา
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคก็คือ ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค เช่น พักอาศัยบ้านเดียวกัน หรือทำงานร่วมกัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคตับ โรคไต ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตอรอยด์ ยาเคมีบำบัด ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือติดสารเสพติด ผู้ที่อาศัยหรือทำงานในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หรืออยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท แสงแดดส่องไม่ทั่วถึง ซึ่งเมื่อเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว สามารถอยู่ในร่างกายของเราได้เป็นปี โดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลงจึงจะเริ่มปรากฏอาการเจ็บป่วย เช่น ไอเรื้อรังติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาจไอแห้งหรือไอมีเสมหะก็ได้ เสมหะมักมีสีเหลือง สีเขียว หรือมีเลือดปน เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำรู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง แม้จะรับประทานอาหารได้ตามปกติ
องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานการวินิจฉัยวัณโรค (Gold Standard Diagnosis) คือการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมถึงการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด และเก็บเสมหะตรวจวันละครั้งติดต่อกัน 3 วันเพื่อหาเชื้อวัณโรค วิธีเก็บตัวอย่างเสมหะที่ดีทำได้โดยให้ผู้ป่วยไอให้แรงที่สุดเพื่อจะได้เสมหะจากส่วนลึกของหลอดลม นอกจากนี้แพทย์จะทำการทดสอบว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อวัณโรคแล้วหรือไม่ โดยการทำ Tuberculin Skin Test (TST) คือฉีดสารทูเบอร์คูลิน (tuberculin) เข้าสู่บริเวณชั้นใต้ผิวหนังส่วนตื้น ซึ่งจะทราบผลภายใน 48-72 ชั่วโมง วิธีนี้เหมาะสำหรับตรวจหาเชื้อวัณโรคที่แฝงอยู่ในร่างกายแต่ยังไม่แสดงอาการ (Latent Tuberculosis Infection หรือ LTBI) หรือผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (วัคซีน BCG) หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ค่อยพบการติดเชื้อวัณโรค เช่นประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปอเมริกา ยุโรป เป็นต้น
นอกจากนี้ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ จึงมีการพัฒนาเทคนิคทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยวัณโรคให้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น 3 ได้แก่
- การตรวจ Polymerase Chain Reaction (PCR-TB) เพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค การตรวจนี้มีความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ต่อเชื้อวัณโรคสูง และทราบผลรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง เหมาะสำหรับใช้ยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรคทั้งชนิดในปอดและนอกปอด
- การตรวจ Interferon-Gamma Release Assay (IGRA) เพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อวัณโรค เป็นการตรวจที่มีความจำเพาะกว่าการตรวจ Tuberculin skin test และทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง ปัจจุบันการตรวจ IGRA มี 2 แบบคือ ควอนติเฟอร์รอนทีบี (Quantiferon-Gold In Tube หรือ QFT-GIT) และ ที-สปอตทีบี (T-SPOT TB (TST)) เหมาะสำหรับตรวจหาเชื้อวัณโรคแฝงที่ยังไม่แสดงอาการ (LTBI) หรือผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคแล้วแต่มีอาการเข้าข่ายสงสัยว่าอาจติดเชื้อวัณโรค
ปัจจุบันการตรวจ TST และ IGRA ถูกแนะนำให้ใช้เพื่อตรวจคัดกรองวัณโรคแฝงในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อวัณโรค4 ได้แก่ เด็กเล็กและผู้ติดเชื้อ HIV ที่อาศัยใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะติดเชื้อ เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวได้รับการวินิจฉัยได้รวดเร็วและรับยาป้องกันวัณโรคได้ทันท่วงที
โรควัณโรคสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะที่มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด ได้แก่ Isoniazid (H) Rifampicin (R) Pyrazinamide (Z) Ethambutol(E) และ Streptomycin (S)
1. การรักษาผู้ป่วยวัณโรคระยะติดเชื้อ (Active TB) องค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวทางให้ใช้ยารักษาวัณโรค 3-4 ชนิดร่วมกัน5 โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเข้มข้น และ ระยะต่อเนื่อง
- ระยะเข้มข้น (Intensive phase) คือช่วงเวลา 2 เดือนแรกที่เริ่มการรักษา ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ระบบยาที่แนะนำให้ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ใช้เป็นอันดับแรกคือระบบยา 6 เดือน โดยสูตรยาที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายคือ สูตร 2HRZE(S)/4HR หมายถึง ในช่วง 2 เดือนแรกที่เริ่มรักษา ให้รับประทานยาสี่ชนิดร่วมกันคือ H R Z และ E (หรือใช้ยาฉีด Streptomycin (S) แทนการรับประทานยา Ethambutol (E) หลังจากนั้นให้รับประทานยา H และ R ต่ออีก 4 เดือน สำหรับผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจเลือกใช้ ระบบยา 9 เดือน สูตรยาที่ใช้คือ 2HRE/7HR หมายถึงการรับประทานยา H R และ E ในช่วง 2 เดือนแรกที่เริ่มรักษา ต่อด้วยการรับประทานยา H และ R อีก 7 เดือน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อเริ่มการรักษาในระยะเข้มข้นแล้ว อาการจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ และจะหายใกล้เคียงปกติ ภายในเวลา 2 เดือน แต่ผู้ป่วยยังคงต้องรับประทานยาต่อไปเพื่อเข้าสู่การรักษาในระยะต่อเนื่อง (maintenance phase)
- ระยะต่อเนื่อง (maintenance phase) เป็นการรักษาที่ต่อเนื่องมาจากระยะเข้มข้น แม้ว่าอาการจะดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติแล้วก็ตาม แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาต่อไปจนครบ ระยะต่อเนื่องนี้จึงเป็นระยะที่ผู้ป่วยไม่ค่อยอยากรับประทานยาต่อ บางรายหยุดยาเองเพราะเข้าใจว่าหายแล้ว แต่ที่จริงยังคงมีเชื้อวัณโรคหลงเหลืออยู่ในร่างกายและสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้ถ้าไม่รับประทานยาต่อเนื่อง เชื้อโรคที่เหลืออยู่สามารถปรับตัวให้ทนต่อยาเดิมจนเกิดภาวะเชื้อดื้อยา ถ้าผู้ป่วยกลับมามีอาการอีกครั้ง จะทำให้เชื้อตอบสนองต่อยาเดิมลดลง และหายารักษาได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องเสียเวลารักษานานกว่าเดิมอีกด้วย
2. การรักษาผู้ที่มีเชื้อวัณโรคแฝงแต่ยังไม่แสดงอาการ (Latent Tuberculosis Infection หรือ LTBI) สำหรับกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค เช่น เด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่อาศัยใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค แม้ว่ากลุ่มเสี่ยงดังกล่าวจะยังไม่มีอาการแต่ถ้าผลตรวจ TST หรือ IGRA ยืนยันว่ามีเชื้อวัณโรคแฝงอยู่ในร่างกาย ก็ควรรับการรักษาด้วยการรับประทานยา Isoniazid วันละครั้ง ติดต่อกันนาน 9 เดือนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นโรควัณโรคระยะติดต่อ (Active TB)ในอนาคต4 ซึ่งพบว่าการกินยาดังกล่าวได้ผลดีและมีประสิทธิภาพสูง คือสามารถป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เป็นโรควัณโรคได้ถึงร้อยละ 90 ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ใช้ยานี้ป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในเด็กและผู้ติดเชื้อ HIV ที่อาศัยใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะติดเชื้ออีกด้วย
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยวัณโรค
1. รับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ ห้ามหยุดยาหรือลดยาเองโดยเด็ดขาดแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว
2. สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปากและจมูก เวลาไอ จาม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น
3. บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป๋อง แล้วนำไปทำลายด้วยการเผาหรือต้มน้ำเดือด 5-10 นาที
4. พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสารเสพติดทุกชนิด
5. รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาคุมกำเนิดกับยารักษาวัณโรค
คำแนะนำสำหรับญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค
1. ให้กำลังใจและคอยกำชับผู้ป่วยให้รับประทานยาทุกวัน ถ้าเป็นไปได้ให้รับประทานยาต่อหน้าผู้ดูแลทุกครั้ง จนครบระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
2. แยกห้องพักผู้ป่วยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการรักษา เนื่องจากเป็นช่วงที่ยังมีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้มาก
3. จัดห้องพักรวมถึงสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวกและแสงแดดส่องทั่วถึง
4. ควรนำสมาชิกทุกคนในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและคนชรา เข้าตรวจเช็คสุขภาพที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อตรวจว่าได้รับเชื้อวัณโรคหรือไม่
คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ
2. ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ
4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV
5. หากมีอาการสงสัยว่าอาจติดเชื้อวัณโรค ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และรับการรักษาที่ถูกต้อง
แม้ว่าสถานการณ์โรควัณโรคจะรุนแรงและระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลก แต่ถ้ามีระบบการเฝ้าระวัง การจัดการและการป้องกันโรคที่ดีแล้ว การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคก็จะทำให้สถานการณ์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด สิ่งสำคัญที่สุดคือการปลูกจิตสำนึกให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยวัณโรคเอง ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วยการรับประทานยาให้ครบถ้วนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พยายามไม่อยู่ใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะช่วง 1- 2 เดือนแรกที่เริ่มรักษา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับญาติผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงอันตรายของวัณโรค
World TB Day 2013 หรือ วันวัณโรคสากล ได้กำหนดข้อความรณรงค์ว่า "Stop TB in my Lifetime" หรือ "หยุดวัณโรคไว้ที่ช่วงชีวิตเรา" เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยใช้ข้อความรณรงค์ว่า “We want Thailand free TB” หรือ “เมืองไทยปลอดวัณโรค” แล้วคุณล่ะอยากเห็นเมืองไทยปลอดวัณโรคไหม?