กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--บริษัท 19 มีเดีย จำกัด
สอร. จัดประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 หัวข้อ การอ่านเพื่อความเท่าเทียมกัน หวังลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและตระหนักเรื่องการอ่านเป็น “สิทธิ”ของมนุษยชาติ
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 ในหัวข้อ Reading for Equity : การอ่านเพื่อความเท่าเทียมกัน โดยเชิญนักวิชาการและนักปฏิบัติการที่มีบทบาทด้านส่งเสริมการอ่าน และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้จากไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน 3 ประเทศ ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้าน สิทธิการอ่าน จากประเทศอินเดีย มาร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ แบ่งปันองค์ความรู้ พร้อมหาแนวทางส่งเสริมการอ่านอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อหวังลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และกระตุ้นให้สังคมตระหนักว่า การอ่านเป็นเรื่องสิทธิพื้นฐานอันพึงมีของมนุษยชาติ
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้(สอร.) หรือ TK park เปิดเผยว่า การจัดประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการอ่าน การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญของ TK park ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการเรียนรู้และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในประเทศ และการจัดประชุมครั้งนี้ สอร.ยังคงมุ่งเน้นการขยายองค์ความรู้และความรับรู้ที่มีต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน ตลอดจนการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศทางด้านนโยบายการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันที่แนบแน่นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในฐานะพลเมืองอาเซียน ภายใต้ปรัชญา Towards ASEAN Citizenship with Books and Reading
“ สำหรับหัวข้อการประชุมที่ว่าด้วยเรื่อง Reading for Equity หรือ การอ่านเพื่อความเท่าเทียมกัน ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2554 ซึ่งสอร.มีแนวคิดให้การส่งเสริมการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมแก่เด็กและเยาวชนไทย ที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community ) โดยมีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพื่อรู้เขา รู้เรา นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจสถานการณ์การอ่านของคนในกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้พบว่าปัญหาการอ่านของแต่ละประเทศมีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก คือ การขาดโอกาสและเข้าไม่ถึงการอ่านของประชากรจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากปัญหาความเหลื่อมล้ำกันทางสังคม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศกลุ่มอาเซียนในปัจจุบัน”
ดังนั้นการประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 ระหว่างวันที่ 21- 22 มีนาคม 2556 สอร. ได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญ และนักปฏิบัติการที่มีบทบาทด้านส่งเสริมการอ่าน และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตัวจริงมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์บนเวทีครั้งนี้ประกอบด้วย
ดร.ธีร์ จินกราน ผู้ประสานงานด้านสิทธิการศึกษา ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านการพิทักษ์สิทธิเด็ก ประเทศอินเดีย ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม : บทบาทสำคัญของการพัฒนาทักษะและนิสัยการอ่านในช่วงวัยประถมศึกษา”
นิลา แทนซิล ผู้ก่อตั้งโครงการอุทยานการอ่านสายรุ้ง จากประเทศอินโดนีเซีย เธอเป็นผู้ให้โอกาสการรู้หนังสือกับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสห่างไกลความเจริญตามเกาะต่างๆ ทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ด้วยการระดมทุนจากสังคมไปสร้างห้องสมุดให้กับเด็กๆ จำนวน 25 แห่งบน 10 เกาะ และส่งเสริมให้คนในพื้นที่บริหารจัดการเอง จนกลายเป็นห้องสมุดที่ยั่งยืน โดยเธอยังคงทำงานประจำอยู่กับบริษัท ไนกี้ นำเสนอรายการหัวข้อ “อุทยานการอ่านสายรุ้ง ความคิดริเริ่มสู่การกระตุ้นและสร้างสรรค์จินตนาการของเด็กในพื้นที่อินโดนีเซียตะวันออก”
ยี เท็ต อู ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการห้องสมุดทาราพา และศูนย์การเรียนรู้อมรา, ประเทศเมียนมาร์ เป็นผู้ส่งเสริมการอ่านหนังสือให้กับเด็กและเยาวชนในกรุงย่างกุ้ง และสร้างห้องสมุดขนาดเล็กๆ ในชุมชนต่างๆ รวมทั้งห้องสมุดเคลื่อนที่เพื่อส่งเสริมการอ่านในพม่า นำเสนอรายงานหัวข้อ“คิดใหม่เรื่องบทบาทของห้องสมุดขนาดเล็กและโครงการส่งเสริมการอ่านในพม่า”
เหงียน ไฮ ฮา ผู้อำนวยการห้องสมุดแห่งโรงเรียนสาธารณสุขฮานอย ประเทศเวียดนาม นำเสนอรายงานหัวข้อ “การหมุนเวียนหนังสือระหว่างห้องสมุด: แนวทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากหนังสือและสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดช่องว่างทางวัฒนธรรมระหว่างคนในชุมชนเมืองและชนบท”
และไม่ควรพลาดฟังปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วัฒนธรรมหนังสือในอุษาคเนย์” โดยรศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมาเสนอแง่คิดเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมการอ่านหนังสือว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเมือง หรือนิสัยคนแต่ละประเทศหรือไม่อย่างไร
เช่นเดียวกับ ดร.ภญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร นักวิชาการอิสระด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ ที่จะมานำเสนอรายงาน “เปิดชีวิต อ่านเพื่อนบ้าน: วิเคราะห์หนังสือนิทานพื้นบ้านอาเซียน” เพื่อวิเคราะห์ว่านิทานเด็กของแต่ละประเทศในอาเซียนมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และสุดท้าย ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ นำเสนอรายงาน “เด็กอ่านโลก: จากทักษะการอ่านสู่ทักษะแห่งศตวรรษใหม่” เป็นต้น
สุดท้ายดร.ทัศนัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมวิชาการครั้ง สอร.หวังว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมจะสามารถนำความรู้ แนวคิดและแนวทางการส่งเสริมการอ่านอย่างเท่าเทียม ไปต่อยอดขยายผลและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้แล้วสังคมทุกภาคส่วนควรหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสและการเข้าถึงการอ่าน และการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนไทยอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ เพราะวันนี้การอ่าน เป็นเรื่องของ “สิทธิ ” ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ไม่ใช่เรื่องการหยิบยื่นโอกาส แต่เป็นหน้าที่ในการสร้างโอกาสและกระจายการเข้าถึงการอ่านและการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชนและประชาชนในทุกระดับ เมื่อการอ่าน การเรียนรู้เกิดความเท่าเทียมกัน ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะลดน้อยถอยลงและหมดไปในที่สุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท 19 มีเดีย จำกัด
งานสื่อสารองค์กร สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.)สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(มหาชน)
โทร. 02-257-4300 ต่อ 241,245
โทรสาร 02-257-4332 ,www.tkpark.or.th / facebook : tkparkclub