กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้บริการด้านเครือข่ายสื่อสารและการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการภาครัฐ และการมีสัดส่วนรายได้ประจำในระดับปานกลางจากสัญญาให้บริการ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากความผันผวนของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ ตลอดจนความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าและโครงการ รวมทั้งภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันประมูลงานโครงการภาครัฐและดำเนินนโยบายทางการเงินที่รอบคอบด้วยการควบคุมให้มีสภาพคล่องที่เหมาะสมเมื่อรับงานโครงการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ สถานะทางการเงินของบริษัทจะลดต่ำลงกว่าสถานะอันดับเครดิตในปัจจุบันหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทสูงกว่า 60% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
บริษัทสามารถเทลคอมก่อตั้งในปี 2529 โดยกลุ่มตระกูลวิไลลักษณ์ บริษัทดำเนินธุรกิจติดตั้งโครงข่ายสื่อสารและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ครบวงจร รวมทั้งให้บริการด้านโครงข่ายและระบบสื่อสาร ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 71% โดยบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นเป็นบริษัทที่ลงทุนในกิจการสื่อสารโทรคมนาคมและโครงข่าย รวมทั้งให้บริการด้านวิศวกรรม ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทมิได้จำกัดโดยอันดับเครดิตของบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น แต่ก็มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในระดับหนึ่ง
สถานะทางธุรกิจของบริษัทมีความเข้มแข็งซึ่งสะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลาดและผลงานที่ได้รับการยอมรับในโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากรายได้ที่สม่ำเสมอจากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงรักษาด้วย บริษัทมีรายได้ในปี 2555 อยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนของรายได้จากสัญญาให้บริการจำนวน 2.4 พันล้านบาท
ความเสี่ยงของบริษัทมาจากผลประกอบการที่ผันผวนอันเกิดจากธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบที่มีขนาดมูลค่าโครงการแตกต่างกันอย่างมาก ในขณะที่การดำเนินงานก็มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนและความไม่ต่อเนื่องในการจัดสรรงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐ นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงของการมีรายได้ที่กระจุกตัวด้วยเช่นกัน โดยรายได้ของบริษัทมาจากโครงการที่ว่าจ้างโดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นส่วนใหญ่
ณ สิ้นปี 2555 มูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ของบริษัทอยู่ที่ 9.7 พันล้านบาท โดยงานมูลค่าประมาณ 6 พันล้านบาทจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2556 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ภายใต้ประมาณการพื้นฐานอยู่ที่ 1-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยประมาณการนี้ได้รวมรายได้จากโครงการ 3 จีระยะที่ 2 ของบริษัททีโอทีเอาไว้แล้ว
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการรับงานโครงการขนาดใหญ่ต่อไปโดยเฉพาะโครงการ 3 จีระยะที่ 2 ของบริษัททีโอที อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่มีความกดดัน กำไรของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 16% โดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีข้างหน้า
บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 70.9% เพิ่มขึ้นจาก 65.5% ในปี 2554 และ 48.6% ในปี 2553 ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและเป็นระยะเวลาเกินกว่าประมาณการจากความล่าช้าในการรับรู้กระแสเงินสดในโครงการ 3 จีของบริษัททีโอทีและโครงการของ บริษัท พอร์ทัลเน็ท จำกัด ซึ่งความล่าช้าดังกล่าวทำให้มูลค่าเจ้าหนี้การค้าและรายได้ค้างรับของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.3 พันล้านบาทในปี 2555 จาก 5.1 พันล้านบาทในปี 2554 และ 1.9 พันล้านบาทในปี 2553
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถลดมูลค่าเจ้าหนี้การค้าและรายได้ค้างรับได้อย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2556 ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 60% ในระยะปานกลาง ในกรณีที่บริษัทยังคงมีมูลค่าเจ้าหนี้การค้าและรายได้ค้างรับอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งมีแนวโน้มที่จะทบทวนสถานะทางธุรกิจของบริษัทใหม่เนื่องจากบริษัทอาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จากการรับงานโครงการขนาดใหญ่จากรัฐวิสาหกิจบางราย ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทออกตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ไม่มีประกัน อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวมีโอกาสที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 1 ขั้นเนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนเงินกู้มีหลักประกันต่อสินทรัพย์ที่ 45% ณ สิ้นปี 2555
บริษัทมีอัตราส่วนทางการเงินด้านสภาพคล่องอ่อนแอลงในปี 2555 นอกจากนี้ แรงกดดันด้านสภาพคล่องยังเพิ่มสูงขึ้นจากภาระหนี้บางส่วนที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม แหล่งเงินทุนระยะสั้นของบริษัททั้งจากกระแสเงินสดภายในและจากการระดมทุนผ่านตลาดทุนน่าจะเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ดังกล่าว ณ สิ้นปี 2555 ภาระหนี้ของบริษัทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2556 มีมูลค่าอยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท โดยที่ 2.2 พันล้านบาทเป็นเงินกู้สำหรับโครงการที่มีความล่าช้าในการรับรู้กระแสเงินสด (โครงการ 3 จีของบริษัททีโอทีและโครงการของบริษัทพอร์ทัลเน็ท) และอีก 1 พันล้านบาทเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ผู้บริหารของบริษัทรายงานว่าบริษัทจะสามารถเรียกรับชำระเงินสดจากโครงการที่ล่าช้าได้ทั้งหมดภายในปี 2556 ในระหว่างนั้น บริษัทวางแผนจะชำระคืนเงินกู้ด้วยการออกตราสารหนี้ระยะสั้นและเบิกใช้วงเงินที่ยังเหลือจากเงินกู้โครงการอื่นแทน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 5 เท่า ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 20%
ทริสเรทติ้งมองแนวโน้มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศว่ามีเสถียรภาพซึ่งสะท้อนถึงความต้องการด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยังมีอยู่สูงในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะยังคงเพิ่มการลงทุนด้านระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศมีพัฒนาการที่รวดเร็วซึ่งจะสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่ธุรกิจจำนวนมากทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและธุรกิจบริการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable