กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กรมควบคุมโรค
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การที่วัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งและอาจรุนแรงมากขึ้น สาเหตุสำคัญเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ติดเชื้อมีภูมิต้านทานต่ำ จึงมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้สูงกว่าคนปกติ เนื่องจากวัณโรคและโรคเอดส์ถือเป็นแนวร่วมที่สามารถเพิ่มผลกระทบต่อผู้ป่วยวัณโรคทั้งในด้านการวินิจฉัยและการรักษา และอีกหนึ่งสาเหตุมาจากเชื้อดื้อยา โดยพบว่าผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในประเทศไทยร้อยละ 5 เป็นวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่าวัณโรคดื้อยาโดยทั่วไปประมาณ 10 เท่าแต่ผลการรักษาหายอยู่ที่ร้อยละ 30 เท่านั้น เพราะผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่อง กินยาไม่สม่ำเสมอ ทำให้การรักษามีโอกาสหายต่ำ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเกิดป่วยเป็นวัณโรคซ้ำ เมื่อกลับมารับประทานยาใหม่ เชื้อวัณโรคจะดื้อยา และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น สามารถแพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาสู่ผู้อื่นได้ง่าย และการที่ผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคดื้อยา ทำให้ต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น จากปกติ 6 เดือนเป็น 18 — 24 เดือน เพื่อลดอัตราป่วยและเสียชีวิต และลดการแพร่เชื้อวัณโรค กรมควบคุมโรคได้จัดทำแผนงานการควบคุมวัณโรคขึ้น รวมทั้งสร้างกลไก ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อควบคุมป้องกันวัณโรคตามพื้นที่ชายแดนและการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการดื้อยา โดยเร่งรัดคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ กลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการโดยเร็ว เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต ให้ผู้ป่วยวัณโรคมีโอกาสเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานทุกราย ให้การสนับสนุน ควบคุมกำกับ ติดตามเพื่อลดปัญหาการขาดยา พัฒนาเทคโนโลยีการวินิจฉัยวัณโรคที่รวดเร็ว โดยเฉพาะการวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา และสร้างเครือข่ายเสริมสร้างความรู้เรื่องวัณโรคสู่ภาคประชาชน โดยในปี 2556 มีเป้าหมายควบคุมวัณโรค คือ การเร่งค้นหา รีบรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันวัณโรคดื้อยา และมีจุดเน้นคือ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0” ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ต้องขัง แรงงานย้ายถิ่น เป็นต้น และเมื่อค้นพบผู้ป่วยก็ต้องเข้ารับการรักษาด้วยระบบยาระยะสั้นตามมาตรฐานสากล จนกว่าจะหายขาด ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากวัณโรคให้น้อยกว่าร้อยละ 5 และการขาดยาต้องเป็นศูนย์
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า วัณโรคสามารถป้องกันได้โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ใช้หลัก “กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ” ออกกำลังบ่อยๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เนื่องจากมีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ดี เช่น ลิฟต์ หากขึ้นลงเพียง 1-2 ชั้นควรใช้บันไดจะดีกว่าและยังถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปด้วย ที่สำคัญต้องไม่ส่ำส่อนทางเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลงมีโอกาสที่จะป่วยเป็นวัณโรคได้ อาการของวัณโรคที่พบได้คือ ผู้ป่วยมักไอติดต่อนานเกิน 2 สัปดาห์ จะไอแห้งๆหรือมีเสมหะก็ได้ หรือเสมหะปนเลือด มีไข้ มักเป็นช่วงบ่ายหรือค่ำ เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยตัว เบื่ออาหาร รับประทานได้น้อย นํ้าหนักลด อ่อนเพลีย เมื่อมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเอ็กซเรย์ปอดและตรวจเสมหะ ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น ขอย้ำ!ว่าวัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยต้องมีวินัยในการกินยาอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือนเพื่อกำจัดเชื้อวัณโรคให้เหลืออยู่ในร่างกายน้อยที่สุดและหมดไป ”
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
ติดต่อ:
0-2590-3862