กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ให้สัมภาษณ์พิเศษต่อกรณีสภาผู้แทนราษฎร มีการลงมติในวาระแรก ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่....) พ.ศ..... ไม่รับหลักการในร่างฯฉบับภาคประชาชน โดยบทสัมภาษณ์ดังกล่าว มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
สภาฯลุแก่อำนาจ เจตนารมณ์รธน.ไร้ความหมาย
“การที่สภาผู้แทนราษฎรอาศัยเสียงข้างมากของพรรครัฐบาล ลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อของประชาชน เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ร่างของประชาชนตกไปทั้งฉบับ แม้ว่ารัฐบาลอ้างว่าจะให้ตัวแทนประชาชนผู้เสนอชื่อเข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญ 1 คน ถือเป็นการใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรทำตามอำเภอใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การพิจารณากฎ หมายของสภาผู้แทนราษฎรถ้ารัฐบาลและเสียงข้างมากในสภาฯสามารถทำเช่นนี้ได้เท่ากับว่าเจตนารมณ์และบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง10,000 คนเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางหนึ่งในการใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน และมีกำหนดชัดเจน ให้มีสิทธิเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จำนวน 1 ใน 3 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการพิจารณากี่ร่างกฎหมายก็ตาม เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญ มาตราดังกล่าวได้ถูกฉีกทิ้ง”
การลุแก่อำนาจด้วยเสียงข้างมากในสภาฯครั้งนี้จะมีผลให้ร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนที่กว่าจะไปรวบรวมรายชื่อ กว่าจะไปร่างกฎหมายเข้ามาใช้ทั้งเวลาและเงินทุนจำนวนมาก และกำลังรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกนับสิบร่างก็จะไม่มีความหมายใดๆซึ่งบางร่างรอการ พิจารณามากว่าสองปีรวมทั้งยังมีการเตรียมร่า’กฎหมายเข้าชื่อประชาชนอีกจำนวนมากอยู่ในขณะนี้ขณะที่รัฐสภาเองก็ได้ผ่านกฎหมายการเข้าชื่อของประชาชน ฉบับใหม่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับใหม่ได้ยืนยันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และการมีสิทธิเป็นกรรมาธิการ วิสามัญ1 ใน 3 และให้มีองค์กรต่างๆมาสนับสนุนภาคประชาชน ในการจัดทำร่างกฎหมายเพิ่มจากเดิม รวมทั้งลดเงื่อนไขเวลาและเงินทุนให้ประชาชน ด้วยการเปลี่ยนแปลงจากการ ต้องมีทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นเพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน อย่างเดียวเท่านั้น
กังขาเหตุคว่ำร่างฯภาคปชช.
น่าสนใจมากว่าทำไมรัฐบาลและเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรจึงตัดสินใจเสี่ยงที่จะทำเช่นนี้ ทั้งท้าทายต่อเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งกระทบต่อความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าและแข็งขันของขบวนแรงงานทั้งในระบบ แรงงานนอกระบบ หลายสิบล้านคน ที่รัฐบาลควรจะดูแลและรับผิดชอบในฐานะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และขบวนผู้คนเหล่านี้รณรงค์และเฝ้ารอคอยร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นี้
คำตอบดูจะชัดเจนมากจากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการพิจารณาและปรับปรุงกฎหมายด้านสวัสดิการสังคม กว่า 1 ปีที่ผ่านมา จนได้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเมื่อวันที่ 20มีนาคม2556ในวันอภิปรายวาระที่1ของร่าง4ฉบับดังกล่าวซึ่งคปก.เห็นชอบและกำลังจะลงนามโดยประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมทั้ง 4 ร่างฯดังกล่าวตั้งแต่ต้นของการพิจารณา
ชี้จุดต่างร่างฯภาคปชช.เน้นโปร่งใส เป็นอิสระ พ้นก.แรงงาน
ประเด็นสำคัญที่ร่างของประชาชน และร่างของส.ส.นคร มาฉิม ต่างจากร่างของรัฐบาลที่ยังคงเป็นส่วนราชการ อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานเช่นเดิม แต่ร่างประชาชนให้สำนักงานกองทุนประกันสังคม มีการบริหารที่เป็นอิสระมากขึ้น ไม่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน แต่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการประกันสังคมที่มีองค์ประกอบและที่มาจากการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนหลากหลายและชัด เจนขึ้นขยายการครอบคลุมจากแรงงานในระบบไปสู่แรงงานหลากกลุ่มมากขึ้นมีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อ ประกันความเป็นอิสระโปร่งใสตรวจสอบได้จริงจังกว่าที่ผ่านมาและให้มีคณะกรรมการบริหารการลงทุนที่เป็น มืออาชีพ มีการสรรหาที่จริงจัง โดยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมไม่ใช่ข้าราชการ แต่มาจากการสรรหา ด้วย เพราะวันนี้แม้กองทุนประกันสังคมจะจำกัดเฉพาะแรงงานในระบบเพียงประมาณ 10 ล้านคน
แต่เงินกองทุนที่มาจากการสมทบของนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล ก็สูงมากเป็นล้านล้านบาท ต่อไปในร่างใหม่ยิ่งจะขยายผู้ประกันตนมากขึ้นๆเงินกองทุนก็จะมีมหาศาลคำตอบที่รัฐบาลต้องอธิบายต่อ แรงงานทั้งหมด ต่อสังคม ต่อสื่อมวลชนคือ เงินกองทุนมหาศาลนี้ไม่ใช่เงินที่รัฐบาลจ่าย ตามลำพัง และที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนให้ดีเพียงพอ และความไม่โปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก เท่ากับว่ากฎหมายครั้งใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาหัวใจสำคัญคือความเป็นอิสระ โปร่งใส มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ประกันตนได้และไม่สามารถจะทำให้กองทุนประกันสังคมพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกันตนได้อย่างแท้จริง
ตั้งข้อสังเกตดึงกองทุนฯใต้ปีกก.แรงงาน เอื้อนักการเมือง
“การใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของเสียงข้างมากในสภาฯครั้งนี้มีเจตนาชัดเจนเพื่อดึงเอากองทุนประกัน สังคมอยู่ใต้กระทรวงแรงงานเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองโดยไม่สนใจไยดีต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายสิบล้านคนเพราะเมื่อร่างประชาชนและร่างส.ส.นครมาฉิมถูกลงมติให้ตกไปก็ไม่มีหลักการความเป็นอิสระของสำนัก งานประกันสังคม และไม่มีกลไกคณะกรรมการที่เป็นอิสระและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง รวมทั้งการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกว่าเดิม”
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของรัฐบาลและเสียงข้างมากในสภาฯครั้งนี้จะยังไม่จบลงไปอย่างง่ายๆ ภาคประชาชนทั้งในส่วนร่างกฎหมายประกันสังคม และร่างกฎหมายเข้าชื่ออีกจำนวนมาก รวมทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคม จะยังมีประเด็นตรวจสอบและผลักดันรัฐบาลต่อไป
เปิดเวทีสาธารณะถกความเป็นอิสระ โปร่งใสของกองทุนฯ
ทางคปก. และคณะกรรมการด้านสวัสดิการสังคมก็จะดำเนินการต่อไปตามที่เตรียมการไว้ คือร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยทำงานวิจัยให้สำนักงานประกันสังคมเมื่อหลายปีมาแล้วและเสนอให้เป็นองค์การมหาชนที่เป็นอิสระโดยจะจัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอ4ร่างนี้ในประเด็นความเป็นอิสระของกองทุนประกันสังคมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพ ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคมนี้ ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะเสนอบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของคปก.ต่อร่างกฎหมายประกันสังคมต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และมีการเกาะติดเรื่องนี้ไปอย่างต่อเนื่องเพราะร่างกฎหมายประกันสังคมมีความหมายต่อการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมของคนทำงานจำนวนหลายสิบล้านคนและเป็นข้อต่อในการพัฒนาระบบสวัสดิการการดูแล”ตั้งแต่ครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” ตามที่ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์เคยเสนอและมีการขานรับจากสังคมอย่างกว้างขวางมายาวนาน แต่ยังไม่ประสบผลเสียที กองทุนประกันสังคมเป็นเจตนารมณ์ที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขร่วมกัน และมีเจตจำนงที่คนทำงานทุกรูปแบบต่างมุ่งหวังจะมีส่วนร่วมในการพัฒนากองทุน ร่วมกับนายจ้าง และรัฐบาล โดยมิใช่มุ่งหวังการแบมือร้องขอจากรัฐแต่ฝ่ายเดียว
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔