ก.วิทย์ทุ่ม600ล้านนผุดศูนย์รักษาผู้เจ็บป่วยพิการชราภาพด้วยยีนและเซลล์บำบัด

ข่าวทั่วไป Monday March 25, 2013 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทย์ฯ ทุ่ม 600 ล้านผุดศูนย์รักษาผู้เจ็บป่วย คนพิการ และชราภาพโดยใช้เทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัด เผยสามารถรักษาโรคร้ายทางพันธุกรรมที่เคยหมดหวังรักษาให้หายได้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิจัยเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อประชาชนอีกทั้งยังสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคภัยไข้เจ็บที่นับวันจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมากมาย ตลอดจนถึงโรคเดิม ๆ ที่วิทยาการทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เล็งเห็นช่องทางที่จะนำวิทยาการการรักษาโรคแบบใหม่ที่รู้จักกันในนาม เซลล์และยีนบำบัด เข้ามาเป็นทางเลือกในการรักษาโรคที่ยาแผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายได้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นผลิตภัณฑ์ชะลอวัย ที่เตรียมพร้อมจะส่งเสริมให้ได้มาตรฐานระดับสากล ตอบสนองความต้องการของประชากรประเทศ และสามารถขยายตลาดไปทั่วโลกสร้างรายได้เข้าประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับการดำเนินการนั้น นายวรวัจน์ กล่าวว่า TCELS จะจัดตั้งศูนย์รักษาผู้เจ็บป่วย คนพิการ และชราภาพโดยใช้เทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัด และจัดตั้งหน่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เซลล์บำบัดของประเทศ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ จ.ปทุมธานี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพ และทดสอบเซลล์บำบัด นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนหน่วยพัฒนาการรักษาด้วยยีนบำบัดที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยงบประมาณที่จะใช้ทั้งโครงการราว 600 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินงาน 4 ปี ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ก็จะเป็นการปิดช่องว่างของการรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาแผนปัจจุบัน นำความรู้ที่ได้มาปรับใช้เพื่อฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ ลดการสูญเสีย และภาวะทุกข์ทรมาน จากการเจ็บป่วย ลดต้นทุนทดแทนยานำเข้าของประเทศ ผลักดันให้เกิดคุณภาพมาตรฐานทั้งการให้บริการรักษาพยาบาล และผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการต่อยอดงานวิจัย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้พร้อมกับสร้างสุขภาวะให้คนไทยและประชากรโลกมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว ด้านนายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือระหว่าง TCELS ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬา โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมเซลล์บำบัดแห่งประเทศไทย และสมาคมวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด โดยจะ ดำเนินการ ตั้งแต่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อการผลิต ทดสอบ และรับรองคุณภาพ รวมไปถึงการสนับสนุนต่อยอดงานวิจัยผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากเซลล์บำบัดและยีนบำบัดแบบครบวงจร ไปพร้อมกับการสนับสนุนให้เกิดการให้การรักษาและบริการ ติดต่อ: www.tcels.or.th, http://www.facebook.com/tcelsfan,02-6445499

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ