กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
เกษตรฯ เร่งตามติดข้อมูลผู้ประกอบการไทยลงทุนการเพาะปลูกในประเทศกลุ่มอาเซียน หวั่นย้อนเป็นคู่แข่งสินค้าเกษตรไทยที่ยังได้เปรียบหลายสินค้าโดยเฉพาะ ข้าว มัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “ก้าวไกล ก้าวไป ขับเคลื่อนเกษตรไทยสู่อาเซียน” และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อเกษตรกรทันสมัย เกษตรไทยก้าวหน้า ว่า การเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือเออีซีที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้านั้น ในส่วนของประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในหลายๆ มิติที่มีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน และภาคการเกษตร ที่ได้มีการปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับความร่วมมือและการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแม้ว่าภาคการเกษรตรของไทยจากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรนั้น ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบแต่อย่างใดเนื่องจากเกษตรกร และภาคการผลิตของไทยมีความเข้มแข็งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพืชไร่ที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่จากข้อมูลปัจจุบันที่พบว่ามีผู้ประกอบการได้เข้าไปลงทุนการปลูกพืชกลุ่มดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากหากมีผลผลิตออกมาแล้วส่งกลับมายังประเทศไทยก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยได้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน มาตรการที่สำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรคือการผลิตสินค้าที่สมดุลเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงการผลิตอาหารที่ปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วกว่า 200 ชนิด และจะขยายผลไปสู่มาตรฐานบังคับให้ได้เพื่อให้เกษตรกรตระหนักและเห็นความสำคัญของการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานที่จะช่วยป้องกันผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรที่จะมีการแข่งขันในด้านสินค้ามากขึ้นเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าซึ่งจะต้องถูกลดภาษีเป็นศูนย์
“แม้ว่าภาครัฐจะเป็นผู้นำในการเจรจาในการประสานงานกับกลุ่มอาเซียนทั้งหมดในการวางระบบ นโยบาย การสร้างความร่วมมือ รวมถึงดูแลกฏเกณฑ์ข้อระเบียบต่างๆ ของแต่ละประเทศของกลุ่มสมาชิกอาเซียน และการจัดระบบด่านชายแดนของศุลกากร เมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนขึ้น แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกร จะต้องมีการรวมกลุ่มให้มีความเข้มแข็งให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และศักยภาพการผลิตของตนเองให้เป็นไปในเชิงธุรกิจ และมองตลาดเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตสินค้าให้ได้”นายยุคล กล่าว