ฟิทช์จัดอันดับเครดิตบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนซีส์ จำกัด (มหาชน) ที่ BBB(tha) และปรับลดอันดับเครดิตหนี้ไม่มีหลักประกันเป็น BBB-(tha)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 27, 2013 07:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวสำหรับบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ที่‘BBB(tha)’ และปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหนี้ไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ เป็น ‘BBB-(tha)’ จาก‘BBB(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ การปรับลดอันดับเครดิตหนี้ไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ สะท้อนถึงแนวโน้มอัตราการรับชำระคืนหนี้ (Recovery Prospect) ของหนี้ไม่มีหลักประกันที่ลดลง โดยอัตราส่วนหนี้มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวมและอัตราส่วนหนี้มีหลักประกันต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ ได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและไม่ลดลงตามที่คาดการณ์ นอกจากนี้อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นหลักประกัน (เรือประเภทต่างๆ) ต่อหนี้ไม่มีหลักประกัน อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า ณ สิ้นปี 2555 ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (Net Debt to EBITDA) น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 4 เท่าถึง 5 เท่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทฯ มีแผนค่าใช้จ่ายประมาณลงทุนรวมประมาณ 18,000 ล้านบาท ถึง 19,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2556 — 2558 สำหรับการขยายกองเรือและการจัดซื้อเรือขุดเจาะใหม่เพื่อทดแทนของเดิม บริษัทฯ เฝ้ามองโอกาสที่จะซื้อสินทรัพย์ในระดับราคาที่ต่ำ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2557 โดยส่วนหนึ่งจะมาจากเงินเพิ่มทุนจำนวน 4,000 ล้านบาท ลักษณะความเป็นวัฏจักรของธุรกิจ: ธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองมีความเป็นวัฏจักร มีความผันผวนสูง และประกอบด้วยผู้ประกอบการหลายราย ธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองได้ประสบกับภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมตั้งแต่ปลายปี 2551 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า แรงกดดันที่มีต่ออัตราค่าระวางเรือ ซึ่งเกิดจากการที่ปริมาณเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมีมากกว่าความต้องการขนส่งสินค้า จะลดลงในครึ่งหลังของปี 2556 ซึ่งน่าจะทำให้อัตราค่าระวางเรือมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2557 การกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น: การกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะตกต่ำที่ยืดเยื้อของธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองได้ในระดับหนึ่ง การพลิกฟื้นของธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง (Offshore Marine Service Business) น่าจะทำให้ธุรกิจบริการนอกชายฝั่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้แก่บริษัทฯ ในช่วงปี 2556 — 2557 โดยฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและ ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง จะมีสัดส่วนร้อยละ 60 ถึงร้อยละ 70 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและ ค่าตัดจำหน่าย รวมของบริษัทฯ ในขณะที่ธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง น่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่วนธุรกิจใหม่ๆ ที่บริษัทฯ ได้ลงทุนไปน่าจะสามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันกับธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง รวมถึงช่วยลดความผันผวนและความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดได้ ในระยะยาว ความเชี่ยวชาญและสถานะที่มั่นคงในธุรกิจ: อันดับเครดิตได้รวมการพิจารณาถึงประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจและสถานะทางการตลาดที่มั่นคงในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จในการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอื่น ได้แก่ ภูมิภาคตะวันออกกลางสำหรับธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง และเส้นทางแอตแลนติกสำหรับธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากฤดูกาลในบางเส้นทาง และ/หรือภูมิภาคได้ ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: - การเพิ่มขึ้นของกระแสเงินสดจากทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและ ค่าตัดจำหน่าย (Net Debt to EBITDA) ลดลงต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง - การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นหลักประกัน (เรือประเภทต่างๆ) ต่อหนี้ไม่มีหลักประกันที่สูงกว่า 2 เท่า จะส่งผลทางบวกต่ออันดับเครดิตของหนี้ไม่มีหลักประกัน ปัจจัยลบ: - การขยายธุรกิจและการลงทุนในกิจการอื่นๆ ที่สูงอย่างต่อเนื่องโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและ ค่าตัดจำหน่าย สูงเกินกว่า 6.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง - สภาพคล่องของบริษัทฯ ที่อ่อนแอลงอย่างมาก โดยมีอัตราส่วนกระแสเงินสดต่อดอกเบี้ยจ่ายและค่าเช่า (FFO Fixed Charge Coverage) ลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า (ณ สิ้นปี 2555: 2.1 เท่า) หรือ หากเจ้าหนี้ธนาคารมีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทฯ ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อสภาพคล่องของบริษัทฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ