MPA NIDA แนะรัฐดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านกลไกตลาดทุน ช่วยลดความเสี่ยงหนี้สาธารณะพุ่ง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 27, 2013 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะรัฐดึงภาคเอกชนร่วมลงขันโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้าน ลดแรงกดดันและความกังวลต่อการก่อหนี้สาธารณะ ระบุร่างทีโออาร์ควรกำหนดให้เลือกใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศให้มากที่สุด เพื่อช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกทาง พร้อมดึงทุกฝ่ายร่วมตรวจสอบโครงการ สร้างความโปร่งใสลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ที่เน้นการลงทุนในระบบราง เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันโครงการให้เดินหน้า เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าหรือโลจิสติกส์ของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพี ส่งผลให้ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนกรณีการก่อหนี้สาธารณะจากการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่หลายฝ่ายกังวลว่า จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ในสัดส่วนสูงขึ้นมากนั้น รัฐบาลสามารถใช้แนวทางดึงภาคเอกชนที่มีความพร้อมและศักยภาพด้านการลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยอาศัยกลไกตลาดทุน ที่ภาคเอกชนสามารถจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินเข้ามาระดมทุนเพื่อเข้ามาลงทุน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงและความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะไม่ให้สูงเกินไป จนเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้ “ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดีต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อจะได้รองรับจากการเข้าสู่ AEC ในปี 2558 แม้หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการก่อหนี้สาธารณะที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ไม่น่าห่วง เพราะเป็นลักษณะการทยอยกู้เงิน ซึ่งไม่ส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะมากนัก อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐพยายามลดกระแสกดดันในประเด็นนี้ ก็สามารถเลือกดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในเฟสท้ายๆ ของโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด เช่น ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนระบบรางรถไฟทั้งหมด แล้วให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนจัดหาตัวรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือลงทุนในระบบอาณัติสัญญาณต่างๆ เกี่ยวกับการเดินรถ ทำให้ภาครัฐสามารถลดภาระการลงทุนและหนี้สาธารณะบางส่วนลงได้” รศ.ดร.มนตรี กล่าว ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA นิด้า กล่าวด้วยว่า เพื่อให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ภาครัฐควรกำหนดขอบเขตงานในการเปิดประมูล (TOR) ของโครงการนี้ ที่กำหนดให้ผู้ที่ชนะการประมูล เลือกใช้สเป็ควัสดุก่อสร้างภายในประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งช่วยเพิ่มธุรกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ขยายตัวมากขึ้น และจะทำให้สัดส่วนระหว่างหนี้สาธารณะกับจีดีพีลดลง รวมถึงดึงองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินโครงการทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความโปร่งใสและลดข้อครหา เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นจากการดำเนินงานก่อสร้างโครงการสร้างพื้นฐานของประเทศก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ