บอร์ดบีโอไอสนับสนุนการกระจายอุตฯอิเล็กทรอนิกส์สู่ภูมิภาค มุ่งช่วยลดต้นทุนและสกัดการย้ายฐานการลงทุน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 28, 2004 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบการโยกย้าย และรับช่วงการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนสู่ภูมิภาค ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิต
มั่นใจ มาตรการใหม่จูงใจผู้ประกอบการ ไม่ย้ายฐานการลงทุน ไปประเทศอื่น
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีมูลค่าส่งออก 1,138,731 ล้านบาท ในปี 2546 และ 1,096,754 ล้านบาท ในปี 2547 (ม.ค.-ต.ค.) หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปี 2546
อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงผลักดันให้ผู้ผลิตหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ เช่น จีน นอกจากนี้ การที่เทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัว หันมาผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะหากยังใช้เทคโนโลยีเดิมและตั้งโรงงานในที่เดิมจะทำให้มีต้นทุนสูง ไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตต้องหาทางโยกย้ายโรงงานไปยังแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ตั้งโรงงาน ในเขต 1 และ เขต 2 ให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ ที่ประชุมจึงมีมติให้การส่งเสริมแก่ผู้ประกอบการที่ปัจจุบันตั้งโรงงานในเขต 1 หรือเขต 2 สามารถโยกย้ายการผลิตสู่เขต 3 พิเศษ 22 จังหวัดที่มีรายได้ต่ำ (ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม นราธิวาส น่าน บุรีรัมย์ ปัตตานี พะเยา แพร่ มหาสารคาม ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และ)
ว่าจ้างให้ผู้ประกอบการ SMEs ในส่วนภูมิภาครับช่วงการผลิตแทน เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งพัฒนาและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากค่าจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายในภูมิภาคต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทำการผลิตในประเทศไทยต่อไป ไม่ย้ายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังประเทศอื่น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่โยกย้ายการผลิต จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี ส่วนผู้ที่รับช่วงการผลิต จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากาขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี และสามารถหักค่าสาธารณูปโภคได้ 2 เท่า เป็นเวลา 10 ปีนับจากวันที่มีรายได้ รวมทั้งยังสามารถหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอีกด้วย
โครงการที่จะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการดังกล่าว จะต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 โดยผู้ประกอบการที่ต้องการโยกย้ายการผลิตและผู้รับช่วงการผลิต จะต้องยื่นคำขอมาเป็น Package เดียวกัน และจะต้องเสนอแผนการจ้างแรงงานของโครงการที่โยกย้าย รวมทั้งจะต้องมีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 200 คน ภายในปีที่ 3--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ