บีโอไออนุมัติส่งเสริม 15 โครงการส่งท้ายปี 47 มูลค่าเงินลงทุนรวม 1.75 แสนล้านบาท

ข่าวทั่วไป Tuesday December 28, 2004 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--บีโอไอ
กิจการไซโลระบบควบคุมบรรยากาศ
การขยายกิจการผลิตแผ่นใยไม้อัด
การขยายกิจการและการผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานพาหนะ 4 โครงการ
การขยายกิจการผลิตเหล็ก
กิจการผลิต PROPYLENE และ POLYPROPYLENE
กิจการผลิต VINYL CHLORIDE MONOMER ( VCM ) 2 โครงการ
กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าของ 2 โครงการ
กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเลและกิจการสถานที่ตรวจปล่อยและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออก
กิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ
กิจการขนส่งทางเรือ
นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย หลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวน 15 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 175,871.64 ล้านบาท ดังนี้
กิจการไซโลระบบควบคุมบรรยากาศ ของบริษัทสยามธัญรักษ์ ไซโล จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่มของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง โดยได้รับคัดเลือกจากกระทรวงพาณิชย์ให้บริการเก็บรักษาข้าวสารในระดับอุณหภูมิ ที่ 15-20 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงคุณภาพตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล มีขนาดความจุ 300,000 ตัน โครงการนี้ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท ตั้งโรงงานในจังหวัดพิจิตร(เขต 3)โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกและมีแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าทั้งปี 2547 จะสามารถส่งออกได้ 8 ล้านตัน อีกทั้งตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกแข่งขันกันรับซื้อค่อนข้างสูง นอกจากนี้การดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวของภาครัฐ ทำให้ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี การให้ส่งเสริมการลงทุนในโครงการไซโลควบคุมบรรยากาศ จะช่วยให้การเก็บรักษาข้าวไทยมีคุณภาพดีได้มาตรฐานการส่งออกกิจการผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง ของบริษัท วนชัย พาเนล อินดัสทรี่ส์ จำกัด ดำเนินการผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง กำลังการผลิตปีละประมาณ 210,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ คือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,700 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เขต 3) ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8ปี ซึ่งการผลิตจะใช้วัตถุดิบในประเทศ ร้อยละ 95 ได้แก่ ปีกไม้ เศษไม้ยางพารา กาว เคมีภัณฑ์ ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเท่าๆกัน คือ ร้อยละ 50
กิจการส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป บริษัท นากาตะ (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท นากาตะอินดัสทรี่ส์ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนให้โรงงานผลิตรถยนต์นิสสันโดยตรง ส่วนโครงการนี้เป็นการขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปสำหรับ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานพาหนะ เช่น ชิ้นส่วนโครงหลังคา ประตู พื้นรถยนต์ เป็นต้น ปริมาณการผลิต ปีละประมาณ 540,000 ชิ้น ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 949 ล้านบาท ตั้งโรงงานใน จ.ปราจีนบุรี เขต 3 ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8ปี โครงการดังกล่าวเป็นการขยายกิจการเพื่อสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตรถปิคอัพของบริษัทนิสสันซึ่งมีเป้าหมายการผลิตเพื่อส่งจำหน่ายในประเทศและส่งออกในภูมิภาคเอเชีย
กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะและเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัท ไทยซัมมิท อีสเทิร์นซีบอร์ด โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด กำลังการผลิตปีละประมาณ 22,528,000 ชิ้น หรือ 64,800 ตัน โดยการผลิตร้อยละ90 เป็นชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ ได้แก่ ชิ้นส่วนตัวถัง ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนแผงประตู ชิ้นส่วนกันชน จะทำการผลิตเพื่อป้อนการผลิตรถของ บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนอีกร้อยละ 10 จะเป็นการผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งโครงการใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น1,390.6 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดจังหวัดระยอง เขต 2 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบร้อยละ 75 เป็นเวลา 5 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
กิจการขอรับส่งเสริมขยายกิจการผลิตเหล็กขั้นต้น (น้ำเหล็กและเหล็กถลุง) เหล็กขั้นกลาง (STEEL BILLET และ BLOOM) เหล็กขั้นปลาย (เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นและเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดร้อน) ของ บริษัท จีสตีล จำกัด (มหาชน) ทำการผลิตเหล็กขั้นต้นประมาณ 2.65 ล้านตัน/ปี ,เหล็กขั้นกลาง (STEEL BILLET และ BLOOM) 0.60ล้านตัน/ปี ,เหล็กขั้นปลาย แบ่งออกเป็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน 0.40 ล้านตัน เหล็กแผ่นไร้สนิมรีดร้อน 0.60 ล้านตัน/ปี เหล็กแผ่นรีดร้อน 0.20 ล้านตัน/ปี โครงการนี้ลงทุนทั้งสิ้น 41,000 ล้านบาทเป็นหุ้นไทยร้อยละ 67 ต่างชาติร้อยละ 33(จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์) ตั้งโรงงานที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัทสุขุมวิท อินเตอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จ.ระยอง
โครงการนี้จะมีผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ โดยจะสามารถหาซื้อเหล็กที่มีคุณภาพสูงได้ภายในประเทศ เนื่องจากเป็นการผลิตเหล็กจากสินแร่เหล็ก ลดการนำเข้าตามโครงการประกอบด้วย กิจการผลิตเหล็กขั้นต้น (น้ำเหล็กและเหล็กถลุง) กิจการผลิต STEEL BILLET BLOOM และเหล็กรูปพรรณรีดร้อน และกิจการผลิตเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดร้อนและเหล็กแผ่นรีดร้อน
กิจการขยายการผลิต FUEL INJECTION PUMP,DIESEL INJECTOR และCOMMON RAIL ของบริษัท สยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนในระบบ COMMON RAIL ในเครื่องยนต์ดีเซล ได้แก่ FUEL INJECTION PUMP ปีละประมาณ 120,000 ชิ้น DIESEL INJECTOR ปีละประมาณ 480,000 ชิ้นและCOMMON RAIL ปีละ 192,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 988 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี เขต 2
โครงการนี้เป็นการเพิ่มกำลังผลิตจากโครงการเดิม เนื่องจากลูกค้าเดิม คือ โตโยต้าและ
อีซูซุ มีแผนขยายการผลิตเพิ่มขึ้น และยังมีลูกค้าใหม่ที่หันมาใช้เครื่องยนต์ระบบ COMMON RAIL ได้แก่ มิตซูบิชิ และนิสสัน ซึ่งจะใช้ในรถกระบะรุ่นใหม่ที่จะผลิตในอนาคต โดยให้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
กิจการส่งเสริมการผลิต PROPYLENE และ POLYPROPYLENE ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โครงการนี้ผลิต PROPYLENE 310,000 ตันต่อปี และ POLYPROPYLENE 300,000 ตันต่อปี จะตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก จ.ระยอง เขต 2 เงินลงทุนทั้งสิ้น 14,120 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ตามเกณฑ์ เขต 3 ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ผลิตภัณฑ์ในโครงการ จะจำหน่ายในรูป POLYPROPYLENE ในประเทศร้อยละ 70 และส่งออกร้อยละ 30
ทั้งนี้ ความต้องการ POLYPROPYLENE ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสติกของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
กิจการผลิต VINYL CHLORIDE MONOMER ( VCM ) ของนายอำนวย ตีระเมธี ผลิต VINYL CHLORIDE MONOMER ( VCM ) จะใช้เทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,707.0 ล้านบาท กำลังการผลิต 200,000 ตัน/ปี โดยจะตั้งโรงงานที่ จังหวัดระยอง ( เขต 2 ) โดยได้รับสิทธิประโยชน์ คือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรกึ่งหนึ่ง
กิจการขยายการผลิต VINYL CHLORIDE MONOMER ( VCM ) ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ผลิต VCM ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากประเทศเบลเยี่ยม มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,279.3 ล้านบาท กำลังการผลิต 200,000 ตัน/ปี จะตั้งโรงงานที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ( เขต 2 ) จะจำหน่าย VCM ให้แก่บริษัท เอเพ็ค ปิโตรเคมิคอล จำกัด เป็นหลัก จำนวน 150,000 ตัน/ปี และส่งออก 50,000 ตัน/ปี โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ ประเทศ จีน เวียดนามและมาเลเซีย โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมในประเภทกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ผลิตภัณฑ์ VCM เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิต PVC ซึ่งนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น ท่อ ฉนวนและปลอกหุ้มสายไฟ บรรจุภัณฑ์ ของเล่น หนังเทียม เสื่อน้ำมัน เป็นต้น ปัจจุบันประเทศ
ไทยมีกำลังการผลิต VCM รวมประมาณ 627,000 ตัน/ปี เพื่อใช้ผลิต PVC ในประเทศ และในปัจจุบันความต้องการ VCM เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมพีวีซี โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งในระยะที่ผ่านมาไม่มีการขยายกำลังการผลิต VCM ทำให้ VCM มีแนวโน้มขาดแคลนและราคาสูง
กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์ ของบริษัท ไทยซัมมิท อีสเทิร์น ซีบอร์ด โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ผลิตชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ปีละประมาณ 3,800,000 ชิ้น มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,157.0 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซีบอร์ด ระยอง เขต 2 ได้รับสิทธิประโยชน์ คือ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับรถดัดแปลงของ FORD และ MAZDA และจะเป็น SUPPLIER ชิ้นส่วนพลาสติกรายใหญ่ให้บริษัท AUTO ALLIANCE THAILAND ซึ่งเป็นผู้ประกอบรถยนต์ FORD และ MAZDA ผลิตภัณฑ์ของโครงการนี้จะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 ซึ่งลูกค้าหลัก ได้แก่ AUTO ALLIANCE THAILAND ,NISSAN MOTORS, ISUZU MOTORS,HONDA AUTOMOBILE ส่วนการจำหน่ายในต่างประเทศจัดส่งให้ PROTON ( MALAYSIA) และ GM
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าของ บริษัท อมตะ เพาเวอร์ ( บางปะกง ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทอมตะ เพาเวอร์ จำกัด กับ บริษัท เอ็กโก ร่วมทุนและพัฒนา จำกัด เป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาด 55 เมกะวัตต์ จำนวน 78 โครงการ กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 15,836 เมกะวัตต์ แยกเป็นไฟฟ้า IPP จำนวน 10 โครงการ กำลังการผลิตรวม 11,610 เมกะวัตต์ และ SSP จำนวน 68 โครงการ กำลังการผลิตรวม 4,226 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,350 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เขต 2 โครงการนี้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าของบริษัท เอ.ที. ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาด 22 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 91,980 / ปี โดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง โดยบริษัททำสัญญาซื้อแกลบในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงประมาณ 150,000 ตัน/ปี และใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 120,000 ลิตร/ปี โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ทั้งหมด ส่วน
ไอน้ำที่ผลิตได้จะส่งจำหน่ายให้กับโรงสีบริเวณใกล้เคียง สำหรับการอบข้าวเปลือกและขี้เถ้าจากการผลิต จะขายให้แก่อุตสาหกรรมซีเมนต์และเหล็ก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,191.34 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่จังหวัดนครปฐม เขต 1 โครงการนี้มีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 54.3 ของรายได้ เพิ่มการจ้างแรงงานไทย 84 คนและใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้นมูลค่า 5,331.7 ล้านบาท/ปี โครงการนี้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีและได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร
โครงการขยายกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเลและกิจการสถานที่ตรวจปล่อยและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกหรือโรงพักสินค้า เพื่อตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและบรรจุสินค้าขาเข้าที่ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตท่าเทียบเรือ (รพท.) ของ บริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด ซึ่งมีกำลังผลิตขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ปีละประมาณ 400,000 TEU ขนถ่ายสินค้าทั่วไปปีละประมาณ 1,000,000 ตัน และเป็นการเตรียมสถานีตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและบรรจุสินค้าขาออกด้วยระบบคอนเทนเนอร์ ไว้รองรับการขยายท่าเทียบเรือของบริษัทและเปิดเป็นบริการสาธารณะเพื่อรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ จากนิคมอุตสาหกรรมในเขตภาคตะวันออกและความแออัดของท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นของกิจการ 850 ล้านบาท มีการจ้างแรงงานไทยทั้งสิ้น 85 คน และมีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 59.8 ของรายได้ โดยโครงการนี้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีและได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร
กิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขอรับการส่งเสริมในกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ปีละประมาณ 840,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยมีรายละเอียดของโครงการดังนี้
1. การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลขนาด 42 นิ้ว ระยะทางรวมประมาณ 770 กิโลเมตร มีความสามารถในการส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุดประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป้าหมายแล้วเสร็จช่วงแรกในต้นปี 2549 และช่วงที่ 2 ในปี 2551
2. การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลขนาด 36 นิ้ว ระยะทางรวมประมาณ 110กิโลเมตร มีความสามรถในการส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุดประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป้าหมายแล้วเสร็จต้นปี 2549
3. การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลขนาด 36 นิ้ว ระยะทางรวมประมาณ 80 กิโลเมตร มีความสามารถในการส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุดประมาณ 510 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป้าหมายแล้วเสร็จต้นปี 2551
4. การติดตั้งหน่วยเพิ่มความดัน ( Compressor ) บนบก ที่ จ.ระยอง ขนาด 45 เมกะวัตต์ จำนวน 4 เครื่อง และในทะเลขนาด 70 เมกะวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามรถส่งก๊าซธรรมชาติของระบบท่อเส้นที่ 3 ในทะเลเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และบนบกประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป้าหมายแล้วเสร็จต้นปี 2551
มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 96,527 ล้านบาท ตามโครงการมีการจ้างแรงงานไทย 108 คน มีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 100 ของรายได้ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีและได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จะให้บริการแก่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน ) ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและโรงไฟฟ้าใหม่
กิจการขนส่งทางเรือของบริษัท ทอร์ อินทิกริตี้ ชิปปิ้ง จำกัด เป็นบริการขนส่งทางทะเลในเส้นทางระหว่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซียอินโดนีเซีย ไปยังประเทศแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้ โดยจะขนส่งสินค้าทางเกษตรเป็นหลัก รวมถึงสินค้าไม่บรรจุหีบห่ออื่นๆ จะจัดซื้อเรือใช้แล้ว จำนวน 1 ลำ จากประเทศฟิลิปปินส์ จำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,062.4 ล้านบาท หุ้นไทยร้อยละ 99.99 ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีและได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ