กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
คนอุบลฯเสนอตั้งมูลนิธิจัดงานแห่เทียนพรรษาแทนภาครัฐ ชี้โคราช,สุพรรณแค่โปรโมทท่องเที่ยว อุบลราชธานีคือจิตวิญญาณบรรพบุรุษต้นแบบของแท้คนอุบลฯเสนอตั้งมูลนิธิใช้จัดงานแห่เทียนพรรษาแทนภาครัฐ คนเมืองอุบลฯ ร่วมฟันธงขอจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาด้วยตัวเอง ไม่สนเงินภาครัฐที่ให้มาน้อยลงทุกปี ห้ามขายพื้นที่ให้เอกชนต่างจังหวัดมาขายของ แต่ให้ชาวบ้านนำของที่ระลึกพื้นเมืองมาขายเอง ส่วนการละเล่นโยนห่วงปาเป้า บิงโก ต้องเลิก เพราะเป็นการพนัน ให้สนับสนุนการละเล่นของเด็กพื้นเมืองแทน
29 มีนาคม 2556 ที่ลานเทียนเฉลิมพระเกียรติ สนามทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ร่วมกับภาคประชาชนจัดเสวนาระดมความเห็นกรณีเหลียวหลังแลหน้าเทียนพรรษาเมืองอุบล โดยโครงการสะพานเพื่อประชาธิปไตยจากการสนับสนุนของ USAIDมีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีภาคประชาชนจากหลายสาขาอาชีพและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอาทิ สำนักงานจังหวัด สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานีหอการค้าจังหวัดเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างคับคั่ง
นายกมล ผู้ดำเนินรายการได้สอบถามความเห็นจาก พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิดปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาอุบลถึงการจัดงานแห่เทียนพรรษาที่ผ่านมา
พล.ต.อ.ชิดชัยให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า เป็นประธานการจัดงานแห่เทียนพรรษามาหลายครั้งและการจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี แตกต่างจากการจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอื่นที่พยายามมาแข่งขัน เพราะจังหวัดอุบลราชธานีจัดงานด้วยจิตวิญญาณที่รับสืบทอดจากบรรพบุรุษ เพื่อทำเป็นพุทธบูชาในวันเข้าพรรษา ผิดจากจังหวัดสุพรรณบุรีหรือนครราชสีมา ซึ่งจัดงานแห่เทียนเพียงเป็นรูปแบบ เพื่อโปรโมทดึงนักท่องเที่ยวไปเที่ยงานในจังหวัดตัวเองแต่การจัดงานของจังหวัดอุบลราชธานี ต้องมีการปรับปรุง เพราะยังมีความล้าหลัง วิธีการคือให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของงานแทนสำนักงานเทศบาล ททท. หรือจังหวัด เพราะผู้ว่าราชการมารับตำแหน่งแล้วก็ไป แต่ชาวบ้านอยู่กับภูมิปัญญามีความรู้ความเข้าใจและมีจิตวิญญาณเรื่องการจัดทำต้นเทียนพรรษา โดยตั้งเป็นมูลนิธิหารายได้จากการรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป หารายได้จากการจัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง หารายได้จากพื้นที่โฆษณาที่ต้องการมาแสดงในงานแห่เทียนเข้าพรรษา
"จังหวัดอุบลราชธานี มี ส.ส.ตั้ง 11 คน ทุกคนต้องออกหน้ามาช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องรอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐก็ได้" ด้านนายวิชุกร กุหลาบศรี ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุบลราชธานี กล่าวว่าทาง ททท.ไม่มีนโยบายที่จะโยกการจัดงานประติมากรรมเทียนนานาชาติไปจังหวัดอื่น พร้อมยืนยันว่าการจัดงานเทียนนานาชาติมีจุดประสงค์ใช้โปรโมทการจัดงานแห่ต้นเทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้ชาวโลกรับรู้จึงไม่สามารถย้ายการจัดงานไปจัดที่จังหวัดอื่นได้ สำหรับงบประมาณที่ให้มาน้อยลงทุกปี จากเดิมปีละเกือบ 10 ล้านบาท แต่ปีนี้อาจเหลือเพียง 3 แสนบาท ผู้อำนวยการ ททท.ยังไม่ยืนยันตัวเลข
แต่คาดจะได้งบประมาณมากกว่าตัวเลขนี้แน่นอน พร้อมกล่าวว่า ททท.ยังให้ความสำคัญต่อการจัดงานประเพณีแห่ต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนการจัดงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอื่นเป็นเพียงงานที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับท้องถิ่นเท่านั้น ททท.ไม่ได้เข้าไปสนับสนุน
ขณะที่นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี พูดถึงเรื่องการจัดงานแห่เทียนพรรษาว่า ชาวเมืองอุบลราชธานี ทำต้นเทียนจากใจและแรงศรัทธา เพราะทุกคนเกิดมาก็อยู่กับต้นเทียน จึงรับสืบทอดกันมาถึงปีนี้ก็ 112 ปี อดีตที่ผ่านมาชุมชนจัดทำต้นเทียนพรรษาแบบมัดรวมติดตายนำไปถวายวัดในวันสำคัญทางศาสนา โดยไม่คิดจะเกิดเป็นประเพณีใหญ่โต แต่ลูกหลานคนรุ่นต่อมาก็ต้องรับสือทอด แล้วนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงให้การจัดทำต้นเทียนน่าดูยิ่งขึ้น กระทั่งโด่งดังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมความงดงามการจัดทำต้นเทียนจำนวนมากจังหวัดมีรายได้จากการจัดงานกว่า 20 ล้านบาท และเห็นด้วยกับแนวความคิดตั้งมูลนิธิมาดูแลการจัดงานแทนภาคราชการ เพราะคนอุบลราชธานีมีกว่า 1.8 ล้านคนบริจาคคนละ 1-2 บาทก็ได้เงินจำนวนมากใช้จัดงาน ไม่ต้องรอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนนายชัยยุทธ โยธามาตย์ รองปลัดเทศบาลนครอุบลราชธานี ระบุว่า เทศบาลจัดงบสนับสนุนการจัดงานเทียนไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านบาท แต่ตนฐานะเป็นคนเมืองนี้ สามารถพูดได้ว่าแม้ไม่มีเงินสนับสนุนแม้แต่บาทเดียว คนตามชุมชนก็ยังต้องทำต้นเทียนพรรษา
เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ และอยากบอกให้รู้ว่า ต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอื่นเป็นช่างทำต้นเทียนจากจังหวัดอุบลราชธานีทั้งหมด แต่เป็นช่างมือรองไม่ใช่เบอร์หนึ่งถ้าต้องการดูศิลปะอ่อนช้อยงดงามของฝีมือช่าง ต้องมาดูของจริงที่จังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
ขณะที่ภาคประชาชนเสนอว่า การจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษา ไม่ต้องการเห็นการแสดงสินค้าที่นำพื้นที่รอบสถานที่จัดงานแบ่งขายเป็นล็อก แต่ต้องการให้นำพื้นที่มาให้ชาวบ้านนำสินค้าที่ระลึกพื้นเมืองวางจำหน่าย เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของจังหวัด ส่วนการละเล่นไม่ต้องการเห็นการปาเป้า เล่นบิงโก โยนห่วงเอาของพนัน ให้เปลี่ยนเป็นการละเล่นของเด็กพื้นเมือง เพื่อให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่บังคับให้มาแต่งตัวฟ้อนรำนำขบวน โดยเยาวไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยจิตวิญญาณเหมือนในอดีต
นายตุ่น จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานีพรรคชาติไทยพัฒนาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ก่อนการจัดเวทีว่าตนไม่รู้เรื่องการตัดงบประมาณและการย้ายงานประติมากรรมเทียนไปสุพรรณของททท.และได้สอบถามนายบรรหาร ศิลปอาชาก็ไม่ทราบเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เป็นการดำเนินงานของ ททท. เอง เรื่องงบประมาณหากททท.ให้เพียง 3 แสนจริงตนจะหาเงินมาช่วยไม่ให้ต่ำกว่า 2 ล้านแน่นอน
หลังการเสวนาประชาชนที่มาติดตามรับชมจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ากระแส Social media ทำให้ ททท.ยอมถอยว่าไม่มีนโยบายย้ายประติมากรรมเทียนนานาชาติไปที่อื่น การหั่นงบยังไม่ชัดเจน ทั้งที่เวปมาสเตอร์ไกด์อุบลดอตคอมเป็นผู้โพสต์ข้อความทาง Facebook ชื่อน้าไกด์ อุบล ขณะร่วมประชุมกับทางจังหวัดและ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พูดเรื่องนี้เอง ว่าจ.สุพรรณแย่งซีนเราย้ายงานประติมากรรมเทียนหั่นงบเหลือ 3 แสน ปรากฎในรายการผู้ว่าฯพบประชาชนเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2556
สำหรับการเสวนาเรื่องนี้ สามารถชมได้ที่รายการร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิ้ลทีวี
sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่อง ของดีประเทศไทย
รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM. 102.75Mhz Cleanradio 92.5 Mhz ชมเทปย้อนหลังได้ที่ sangsook.net และ App.สื่อสร้างสุข