เทคโนโลยี ‘ตรวจสอบย้อนกลับ’ ย้อนรอยกระบวนการผลิตจากต้นทางถึงปลายทาง

ข่าวทั่วไป Tuesday April 2, 2013 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น เทคโนโลยี ‘ตรวจสอบย้อนกลับ’ ย้อนรอยกระบวนการผลิตจากต้นทางถึงปลายทางลดการสูญเสีย แก้ปัญหาการเพิกถอนการค้า ตีกลับสินค้าเกษตรยกล็อต จากการสัมมนาเกษตรกรก้าวหน้า ที่จัดขึ้นโดยบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้จัดงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรก้าวหน้า ฮอร์ติ เอเชีย 2013 ได้ข้อสรุปว่า การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรนั้น (Traceability) เป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรจะต้องเรียนรู้และนำมาใช้ในการทำการเกษตรของตน ทั้งนี้จะช่วยให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่ค้นพบรุ่นผลิตที่ปนเปื้อน สามารถเรียกคืนสินค้าได้ถูกต้องในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น และช่วยลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจาการค้า หรือการตีกลับสินค้ายกล็อต ปัจจุบันความปลอดภัยอาหาร หรือ Food Safety นับเป็นข้อบังคับที่เกษตรกร และผู้ประกอบการไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการตรวจสอบย้อนกลับนับว่าเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของการขอรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสินค้านั้นมีการจัดการที่ดีและมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง นั่นหมายถึง จะต้องสามารถติดตามที่มาที่ไปของสินค้าตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลการผลิตของตัวสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียกตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไป เพื่อติดตามที่มาของสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต กระบวนการแปรรูป การขนส่ง จนถึงการกระจายผลิตภัณฑ์อาหารสู่ผู้บริโภค สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ อันได้แก่ ข้าว ลำไย มังคุด ส้ม กล้วยหอม กล้วยไม้ ฯลฯ และส่งเป็นล็อตใหญ่หลายครั้งในหนึ่งปี จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่ดี และมีการจดบันทึกข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเกษตรกรและผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการเรียกคืนสินค้า ในกรณีที่พบสารตกค้าง ศัตรูพืช แมลง หรืออื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการขยายตัวของปัญหา และช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจ และจัดการกับปัญหานั้นได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยให้มีความแตกต่างด้านคุณภาพความปลอดภัย และส่งเสริมให้สินค้าไทยแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความมั่นใจในการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคอีกด้วย โดยที่ผ่านมาเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตสินค้าภายใต้มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย หรือ GAP จะใช้วิธีจดบันทึก และบางรายที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่ก็อาจมีการป้อนข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ จากโปรแกรมพื้นฐานเช่น เอ็กเซล แต่ในปัจจุบันมีผู้คิดค้นและพัฒนาระบบการบันทึกข้อมูลอัจฉริยะ หรือ e-smart farm ขึ้นเพื่อความสะดวกและแม่นยำในการตรวจสอบสินค้าเป็นปริมาณมากๆ โดยวิธีการขั้นตอนนั้นไม่ยาก เพียงแค่ใช้โปรแกรมการอ่านค่า QR Code ผ่านมือถือ และทำการสแกนแถบสัญลักษณ์ QR Code บนตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น ก็สามารถติดตามรายละเอียดไดว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นของเกษตรกรคนใด และมีประวัติการเพาะปลูกเป็นอย่างไรบ้าง โดยเกษตรกรจะต้องขยันอัพเดทข้อมูลของสินค้าที่ตนผลิตอยู่อยู่เป็นระยะ ขณะที่งานฮอร์ติ เอเชีย 2013 เล็งเห็นความสำคัญและมุ่งหวังให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทยมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอาหาร พัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และตรงตามหลักมาตรฐานความปลอดภัย จึงได้รวบรวมเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรชั้นนำระดับโลกมากมายมาไว้ภายในงานเดียวแบบครบวงจร จากกว่า 100 บริษัท โดยระบบการตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวข้างต้นนับเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จัดแสดงภายในงานนี้ ซึ่งหากเกษตรกร หรือผู้ใดสนใจ สามารถเข้าร่วมชมงานฮอร์ติ เอเชีย 2013 ได้ในระหว่างวันที่ 9-11พฤษภาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.hortiasia.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ