กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--
เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัย จัดเวทีเสวนา“โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ค่ายผู้หนีภัยการสู้รบแม่สุริน : จากช่วยเหลือเยียวยาสู่การพัฒนาฟื้นฟู (Black Friday)”แนะจัดระบบของบริจาคให้กระจายอย่างทั่วถึง “ผอ.อินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิวคอมมิตตี (IRC)” เผยจัดตั้งศูนย์ Crisis Centerรับปรึกษาปัญหา พร้อมเปิดคลินิคชั่วคราวให้บริการทางการแพทย์เตรียมระดมกำลังฟื้นฟูค่ายพักพิง ขณะที่ตัวแทนองค์กรเดอะบอร์เดอร์คอนซอร์เที่ยม ขอบคุณรัฐบาลให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ห่วงชะตากรรมเด็กสูญหายกว่า 10 ราย
วันที่ 27 มีนาคม 2556 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนี้ องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิวคอมมิตตี (IRC) องค์กรเดอะบอร์เดอร์คอนซอร์เทียม (TBC) และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากพม่า จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ“โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ค่ายผู้หนีภัยการสู้รบแม่สุริน : จากช่วยเหลือเยียวยาสู่การพัฒนาฟื้นฟู”
สืบเนื่องจากกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จังหวังแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นค่ายของผู้ลี้ภัยการสู้รบกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง คะเรนนี ที่อพยพการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังชาติพันธ์มาอยู่ที่ประเทศไทย จนทำให้มีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตจำนวน 37 ศพซึ่งในส่วนของการช่วยเหลือนอกจากการช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยสี่แล้ว การช่วยเหลือระยะยาวและการพัฒนาฟื้นฟูถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก องค์กรที่มีบทบาทด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมาอย่างยาวนานจึงได้จัดงานครั้งนี้ขึ้น
โดยน.ส.คริสทีน เพทรี่ ผู้อำนวยการอินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิวคอมมิตตี (IRC)กล่าวว่า ค่ายแม่สุรินเป็นค่ายที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงคะเรนนี มาพักอาศัย ก่อนที่สถานการณ์ในประเทศพม่าจะสงบ ซึ่งปัจจุบันมีผู้หนีภัยจำนวน 3,600 คน แต่เป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) 1,675 คน แบ่งเป็นผู้หญิงร้อยละ 49 และผู้ชายร้อยละ 51 ส่วนเด็กอายุ 0-5 ขวบร้อยละ 12 , อายุ 18 ปีขึ้นไปร้อยละ 49 โดยผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 37 คนบาดเจ็บ 200 คน บ้านเสียหาย 400 หลัง รวมมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 2,300 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 900 คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยและเรื่องที่น่าเสียใจมากคืออาสาสมัครบริการทางด้านสาธารณสุขของ IRC ก็เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
สิ่งที่อยากให้แน่ใจที่สุดคือความปลอดภัยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ต้องแน่ใจว่าบุคคลเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองและได้รับการบริการเหมือนค่ายพักพิงเดิม โดยจะต้องเข้าถึงความสะอาด ระบบสาธารณสุข อนามัยสิ่งแวดล้อม สิ่งอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ IRC ได้เปิดคลินิกชั่วคราว ให้การบริการทางการแพทย์เบื้องต้น และการบาดเจ็บเล็กน้อย และมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้หนีภัยสามารถเข้าไปรับบริการได้ โดยจะมีหน่วยบริการสาธารณสุข 4 ทีมเข้าไปในค่ายทุกวัน ทำงานร่วมกับอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้หนีภัยที่มีความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีแพทย์ประจำศูนย์เพื่อให้มั่นใจเรื่องการควบคุมโรค และสุขาภิบาลต่างๆ อย่างไรก็ตามการดูแลขณะนี้ได้แบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนที่หนีเหตุการณ์ไฟไหม้ และกลุ่มที่สูญเสียครอบครัวและบ้าน ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้น เราได้จัดตั้งศูนย์รับมือภาวะวิกฤต (Crisis Center) เพื่อเป็นศูนย์ที่รับปรึกษาปัญหาต่างๆ และทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาจากกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่จะมาเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้น ผู้หนีภัยที่ประสบเหตุอยู่ในช่วงทำความเข้าใจกับความรู้สึกและการรับมือ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเร็ว และหลายคนก็สูญเสียอะไรหลายอย่างในชีวิต
“ประเด็นที่เราเป็นกังวลคือจะทำอย่างไรให้เกิดบริการกลางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วเทียม และในส่วนของการบริจาคอยากให้บริจาคกับองค์กรที่ทำงานผู้หนีภัยการสู้รบพม่ามากว่า 22 ปี ซึ่งจะมีองค์กรเฉพาะที่จัดตั้งเป็นเครือข่ายCommittee for Coordination of Services to Displaced Persons in Thailand(CCSDPT)โดยองค์กรจะต้องไปขึ้นทะเบียน และทำงานโดยที่กระทรวงมหาดไทยรับรู้ มีการส่งแผนการทำงาน ดังนั้นกลไกเหล่านี้จะทำให้แน่ใจว่าการช่วยเหลือไม่ซ้ำซ้อนและโปร่งใส สำหรับสิ่งที่หลายหน่วยงานต้องการขณะนี้มากกว่าปัจจัย 4 คือการฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐานในค่ายผู้หนีภัยให้กลับฟื้นขึ้นมาโดยเร็ว อาทิ โรงเรียน โบสถ์ วัด คลินิก ศูนย์เลี้ยงเด็ก อาคารอเนกประสงค์ ที่พักอาศัย ซึ่งการฟื้นฟูดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณในจำนวนมหาศาล และนอกจากงบประมาณก็ต้องมีความเข้าใจในชุมชน ต้องทำงานร่วมกับชุมชนด้วยความเข้าใจ นอกจากนี้ในหลายครั้งที่มีการเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติจะได้รับความสนใจใจวันแรกๆ เท่านั้น แต่สำหรับการเยียวยาและการฟื้นฟูจะต้องอาศัยระยะเวลานานที่ต้องทำงานร่วมกันจากหลากหลายฝ่าย และต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง” ผู้อำนวยการอินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิวคอมมิตตี (IRC)กล่าว
ขณะที่ น.ส.แซลลี่ ทอมสัน ตัวแทนองค์กรเดอะบอร์เดอร์คอนซอร์เที่ยม (TBC)กล่าวว่า องค์กรเราให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและที่พักพิงกับผู้หนีภัยในประเทศไทยมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดให้กับผู้หนีภัยในรอบ 28 ปี โดยการจากการลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้นมีผู้หนีภัยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์สูญเสียที่พัก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ขององค์กรเราและหลากหลายองค์กรที่ทำงานด้านนี้ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นเราได้มีการเตรียมเคลียร์พื้นที่เพื่อจัดสร้างที่พัก ซึ่งได้มีการจัดตั้งครัวชุมชนขึ้นมาเพื่อประกอบอาหารให้ผู้หนีภัยการสู้รบที่ได้รับผลกระทบ โดยการช่วยเหลือเป็นไปอย่างดีมาก แต่โจทย์สำคัญที่เราต้องควรคิดร่วมกันคือจะช่วยเหลืออย่างให้ยั่งยืนในระยะยาวเพราะสิ่งบริการพื้นฐานในชุมชนเสียหายไปมาก อาทิ โรงเรียน คลินิก ระบบน้ำดื่ม น้ำใช้ สุขภัณฑ์ วัด โบสถ์ สำหรับการทำงานในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นจะอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย เมี่อมีเหตุการณ์แบบี้เกิดขึ้นองค์กรพัฒนาเอกชนก็จะรวมตัวกันในรูปแบบของคณะกรรมการ CCSDPT นอกจากนี้การให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นอีกเรื่องก็คือเงินบริจาคที่จะสามารถนำมาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของจำเป็นให้ตรงตามความต้องการของผู้หนีภัยการสู้รบซึ่งน่าจะใช้เงินอย่างต่ำ 13 ล้านบาทในการฟื้นฟู ซึ่งหากท่านใดสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูให้ตรงตามความต้องการของผู้ลี้ภัยสามารถดูรายละเอียดให้กับองค์กรต่างๆ ได้ตามเว็บไซด์ของเครือข่ายhttp://www.ccsdpt.org/links.htmที่สำคัญคือเราต้องมองไปข้างหน้าว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมขึ้นอีกซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะสภาพแวดล้อมของผู้หนี้ภัยจะพักอาศัยอยู่ติดกันมีพื้นที่จำกัดทำให้ไฟลามได้ง่าย ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการฝึกให้ความรู้เรื่องการหนีไฟ และการป้องกันตัวเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น
ตัวแทนองค์กรเดอะบอร์เดอร์คอนซอร์เที่ยม (TBC) กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เราต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบที่ประสบเหตุ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณกับผู้หนีภัยการสู้รบเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานถุงยังชีพมาให้ผู้ลี้ภัยที่ประสบเหตุ นอกจากนี้แล้วยังต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยด้วยที่ได้ให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันท่วงที
ด้านนายเบน เมนโดซ่า ผู้อำนวยการองค์กรคณะกรรมการคาทอลิคสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) ระบุว่า จากการที่โคเออร์ได้เข้าไปให้ความชวยเหลือผู้หนีภัยจากการสู้รบในครั้งนี้เราพบว่ามีเด็กที่อยู่ในศูนย์พักพิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งแบ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 245 คน อายุ 5-18 ปี 807 คน ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีเด็กที่พลัดพรากจากพ่อแม่ 159 คน ซึ่ง 60 คนสูญเสียพ่อแม่จากการสู้รบไปแล้วและได้อยู่ในการดูแลของศูนย์ดูแลเด็กในค่ายพักพิงซึ่งก็เสียหายไปจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่ามีเด็กพลัดหลงจากไฟไหม้ในครั้งนี้จำนวน 10 คน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามถึงจำนวนของเด็กที่หายไปต่อไปส่วนการช่วยเหลือระยะยาวเริ่มแรกเราต้องประเมินก่อนว่าเด็กๆ ต้องการอะไร และทำอย่างไรให้เด็กกลับคืนสภาวะปรกติได้มากที่สุด รวมถึงการได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งเราก็ได้ประสานการทำงานร่วมกับองค์ภาคีเครือข่ายหลากหลายแห่ง อาทิ องค์กร Save the Children กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้สิ่งทีเราต้องทำต่อไปคือการค้นหาผู้ที่ด้อยโอกาสที่พลัดหลงจากครอบครัว รวมทั้งจัดกิจกรรมและสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเยียวยาจิตใจ