รู้ไหม....แกลบทำแก้วได้ ผลงานนักวิทย์ไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 2, 2013 13:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--บ้านพีอาร์ หลายคนรู้จักแกลบ แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่าแกลบมีประโยชน์ มากกว่าเอาไปทำเชื้อเพลิงหรือผสมทำอิฐ วันนี้แกลบที่ไม่มีคุณค่าในอดีตจะกลายเป็นแกลบที่ทำมูลค่ามหาศาล ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ทำให้แกลบส่วนที่เหลือใช้จากการสีข้าวเปลือกกลายเป็นผลผลิตที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆได้มากมาย ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท. เพื่อเยาวชน) ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และการสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมและนำเสนอผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทย ตั้งแต่รุ่นเล็กระดับมัธยมปลายไปจนถึงรุ่นใหญ่ระดับปริญญาเอกที่เป็นผลิตผลจากทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โครงการ พสวท.) ต่างขนผลงานการคิดค้นและวิจัยมาประกวด รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันโดยไม่มีกั๊ก ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจกันมากคือ โครงการ Glass Science and Glass Design ผลงานวิจัยของ ดร. รัชฎา บุญเต็ม ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์? มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ค้นพบว่าซิลิก้าในแกลบสามารถนำมาทำเป็นแก้วได้ ว้าว...มาตามชมกันค่ะ ว่ามันคืออะไร น่าสนใจอย่างไร และเป็นอย่างไร ก่อนอื่นต้องให้เจ้าของผลงาน ดร. รัชฎา เล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นการวิจัยนี้มาจากที่ นักวิทยาศาสตร์หลายคนทราบว่าในเถ้าแกลบมีซิลิก้า อยู่ประมาณ 70-90% โจทย์มีอยู่ว่าแล้วเราจะนำซิลิก้าในแกลบมาทำให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง นั่นเป็นสิ่งที่เธอต้องหาคำตอบ โดยเริ่มจากการศึกษาเรื่องส่วนผสมของแกลบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการนำแกลบไปเผาเพื่อให้ได้สารอนินทรีย์ ทำให้พบว่ามีซิลิก้าอยู่มากถึง 90% จากนั้นนำซิลิก้ามาผสมกับสารต่างๆ โดยผ่านกระบวนทางวิทยาศาสตร์ ในที่สุดเธอจึงค้นพบว่า แกลบนั้นสามาถนำมาทำเป็นแก้วได้ ซึ่งขั้นตอนการนำแกลบมาสกัดและผ่านกระบวนการเพื่อผลิตแก้วนั้น มีวิธีการและกระบวนการที่ซับซ้อนน้อยกว่าและไม่ยุ่งยากเท่ากับการทำแก้วจากทราย และผลผลิตของแก้วจากแกลบนั้นให้คุณภาพดีกว่าแก้วจากทราย เพราะสารอนินทรีย์ในแกลบสูง จึงให้ความละเอียดของเนื้อแก้วมากกว่านั่นเอง ทั้งนี้ ดร. รัชฎา ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยทำแก้วจากแกลบจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร และเธอไม่หยุดเพียงเท่านั้น ได้นำเงินทุนที่ได้รับมาต่อยอดด้วยการทำเครื่องประดับ อย่างเช่น แหวน สร้อยคอ ต่างหู ฯลฯ โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ คณะมัฑณศิลป์ เป็นผู้ช่วยในการออกแบบตัวเรือนให้ โดยในอนาคต ดร.รัชฎา คาดว่าแก้วที่มาจากแกลบนี้ จะสามารถนำไปทดแทนการผลิตแก้วจากทราย รวมทั้งนำไปขยายใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย “มีหลายองค์กรมาติดต่อให้เราผลิตแก้วในรูปแบบต่างๆ ให้ อย่างเช่น พวกแจกัน หรือ กระจก ซึ่งตอนนี้เราอยากศึกษาตรงนี้ให้ดีก่อน ก่อนที่จะลงไปในภาคอุตสาหกรรม และตอนนี้เราก็กำลังศึกษาเกี่ยวกับ Glass Bead แก้วลูกปัดที่คนสมัยก่อนนำมาทำเป็นอุปกรณ์ตกแต่ง และถ้ามีใครอยากได้แก้วจากแกลบของเราไปทดลองใช้ ทางเราจะยินดีเป็นอย่างมาก” ดร.รัชฎา กล่าว หลังจากนั่งฟังเธอเล่าถึงความเป็นมาของโครงการจากแกลบสู่แก้ว ดร.รัชฎา ได้พาผู้ร่วมฟังการบรรยายในครั้งนี้ ไปร่วมกิจกรรม Work Shop หัวข้อ Glass Science and Glass Design กิจกรรมประดิษฐ์เครื่องประดับแก้วจากแกลบ เราเจอหนุ่มน้อยนักเรียนต่างชาติคนหนึ่งที่กำลังขะมักเขม้นทำจี้สร้อยคอขนาดกะทัดรัด ชื่อนาย Kenta Sato ตัวแทนจากโรงเรียน Zeze High School เมืองชิกะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้มาเข้าร่วมส่งโครงงานวิทยาศาสตร์ ในงาน วทท. เพื่อเยาวชนครั้งที่ 8 นี้ด้วย เขาบอกว่ามีความสนใจเรื่องแก้วจึงเข้ามาฟังบรรยาย และบอกกับเราว่า “ซูโก้ย (ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า สุดยอด) ผมรู้สึกแปลกใจและทึ้งมากที่เอาแกลบมาทำเป็นแก้วได้ ที่บ้านผมประเทศญี่ปุ่นมีแกลบเยอะมากเพราะเราก็ปลูกข้าวเหมือนเมืองไทย ถ้ามีโอกาสผมอยากศึกษาเรื่องนี้ด้วย ผมว่าเป็นงานวิจัยที่ดีจริงๆ ครับ” ดร.รัชฎา ทิ้งท้ายก่อนปิดโครงการฯว่า ภูมิใจกับผลงานวิจัยเรื่องจากแกลบสู่แก้ว ที่สามารถทำให้ทุกคนได้รู้ว่าแกลบมีคุณค่าและเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงการเอาหลักวิทยาศาสตร์ไปเติมเต็มอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งตนอยากแนะให้เด็กไทยนำเอาวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการพัฒนาอย่างแท้จริง ติดต่อ: บจก.บ้านพีอาร์ คุณปทิดา โทร. 02 292-9383

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ