กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
ศศินทร์ เผยตลาดภายในประเทศแข่งขันสูง ถึงเวลาแบรนด์ไทยขยายการลงทุนหาตลาดใหม่ แนะบรรยากาศการลงทุนในเมียนมาร์เปิดรับนักลงทุนไทย ย้ำผู้บริโภคเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าไทย แนวโน้มชนชั้นกลางมีกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยืนยันเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมุ่งสู่เมียนมาร์
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยถึงการลงทุนธุรกิจต่าง ๆ ที่มุ่งสู่ประเทศเมียนมาร์ว่า หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมทั้งสินค้าและบริการแบรนด์ต่าง ๆ มีแนวโน้มจะขยายตลาดไปสู่เมียนมาร์มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่รัฐบาลไทยและเมียนมาร์ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ฉบับใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งการก่อสร้างโครงการทวายในอนาคตจะเกิดเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่บริเวณชายแดนทั้ง 2 ประเทศ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่ประเทศเมียนมาร์ แต่การพัฒนาโครงการดังกล่าว จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% นอกจากนี้ยังเกิดการจ้างงานและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ตามมา ที่เห็นได้ชัดคือระบบคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยและแหล่งพาณิชย์ รองรับการเติบโตเศรษฐกิจแนวชายแดน เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญทวายยังเป็นประตูเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ทวีปอื่น ๆ ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาอีกต่อไป
ขณะนี้เมียนมาร์อยู่ในระหว่างการปฏิรูปประเทศ เชื่อว่าในอนาคตบรรยากาศการลงทุนน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากกำลังปรับตัวหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เพื่อรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เห็นได้จากที่ผ่านมาเมียนมาร์กำลังผลักดันกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ถือเป็นความท้าทายในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและในเมียนมาร์เอง ปัจจุบันรัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีของนักลงทุนที่จะเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งการตลาดในเมียนมาร์
ดร.กฤษติกาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดภายในประเทศ จึงต้องขยายธุรกิจไปสู่การลงทุนในตลาดใหม่ที่ดีกว่า ทั้งนี้ การเข้าถึงผู้บริโภคชาวเมียนมาร์นั้น ประเทศไทยมีความได้เปรียบชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความใกล้ชิด รวมถึงมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญผู้บริโภคในประเทศเมียนมาร์เชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทย มองว่าแบรนด์ไทยมีความน่าเชื่อถือ น่าจะทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยเข้าไปบุกตลาดในเมียนมาร์ได้ง่ายกว่าประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ผ่านสื่อสารมวลชนทั้งสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ น้อยกว่าประเทศไทยและชาติอื่นในอาเซียน ดังนั้นเมียนมาร์เป็นประเทศที่จะสร้างโอกาสในการตลาดและอุตสาหกรรมการผลิตแห่งใหม่
“จุดเด่นของประเทศเมียนมาร์มีอยู่หลายปัจจัย เริ่มจากจำนวนประชากรประมาณ 60 ล้านคน และความสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีพื้นที่ติดกับประเทศลาวและจีน ทั้งยังมีชายแดนติดกับประเทศไทยยาวมาก นอกจากนี้การสนับสนุนการลงทุนด้านต่างๆ ทั้งภายในประเทศและการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ จะทำให้เกิดชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น หมายถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในเมียนมาร์จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แม้ว่าขณะนี้นักลงทุนไทยมีความตื่นตัว ให้ความสนใจประเทศดังกล่าวสูงมาก แต่ในอนาคตการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนทั้งจากจีนและสิงคโปร์ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน จะทำให้ต้นทุนทางการตลาดขยับขึ้นในไม่ช้านี้” ดร.กฤษติกากล่าวและให้ความเห็นว่า หากแบรนด์ต่าง ๆ จะเข้าสู่ตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ได้อย่างไม่มีปัญหา ควรให้ความสำคัญกับประชาชนของประเทศนั้น ๆ โดยไม่ดูถูกวิถีการดำเนินชีวิต แนวความคิด วัฒนธรรมและความเชื่อของคนชาติอื่น ๆ แม้ว่าจะมีความแตกต่างแต่การทำธุรกิจต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน สำหรับการลงทุนในประเทศเมียนมาร์ต้องสร้างพันธมิตรและมีเพื่อนในท้องถิ่นที่มีศักยภาพเข้าถึงองค์กรของภาครัฐ และรู้ถึงความเป็นมาของคู่ค้าที่ทำธุรกิจด้วยกัน เนื่องจากกฎและระเบียบต่าง ๆ ในบ้านเขาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก อาจกระทบต่อการลงทุนได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ศิริลักษณ์ สุจริตตานนท์ (แอน) Asst. Chief of Public Relations โทร 02-218- 3853-4
E-mail: sirilak.sujarittanonta@sasin.edu
แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร PR&Marketing Coordinator โทร. 02-218- 4001-9 ต่อ 188
E-mail:praewthip.danwarawijitr@sasin.edu