กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีความรุนแรงในช่วงปลายเดือนมีนาคม - กลางเดือนเมษายน ซึ่งส่วนมากเกิดจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้านและมีลมตะวันตกพัดควันเข้าสู่ประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำความเข้าใจกับประชาชน และเกษตรกรไม่ให้เผาตอซัง หรือเศษวัชพืชในพื้นที่เกษตรเพื่อลดปัญหาหมอกควัน โดยขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อปฏิบัติการสร้างฝนแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่เพียงพอ
แต่อย่างไรก็ตาม ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปรับยุทธศาสตร์เป็นทำการสร้างหลุมดำในพื้นที่ที่มีกลุ่มควัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศ พัดเอากลุ่มควันออกจากบริเวณพื้นที่ที่มีปัญหาด้านหมอกควัน
ด้านนางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ เร่งรณรงค์ไม่ให้เกิดการเผาตอซังหลังจากการเก็บเกี่ยว โดยมีการรณรงค์แล้ว 172 ครั้ง จัดการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ และมีการทำงานผ่านระบบเครือข่ายเกษตรกรและอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ปลอดการเผา 100 กลุ่ม จำนวน 405 ราย โดยส่งเสริมการสาธิตการไถกลบตอซัง ทำปุ๋ยพืชสด และเพาะเห็ดโดยใช้ฝาง ใช้สารจุลินทรีย์ย่อยสลายฝางข้าว อบรมแล้ว 12,200 ราย ครอบคลุมเพืนที่ 55,588 ไร่ และส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก 944 ราย แล้ว
สำหรับสถานการณ์การใช้น้ำและแผนการปลูกพืชฤดูแล้งในปัจจุบันนายยุคลกล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการจัดสรรน้ำในเขตชลประทานในช่วงหน้าแล้งทั้งหมด 23,570 ล้าน ลบ.ม. โดยมีการนำน้ำไปใช้แล้ว 17,128 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 73 ของปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการจัดสรรน้ำตามแผน 1,529 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้แล้ว 1,173 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำแล้ว 7,600 ล้าน ลบ.ม. จากแผนการจัดสรรน้ำ 9,000 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ตลอดช่วงหน้าแล้ง และหากสามารถใช้น้ำได้ตามแผนที่กำหนดไว้ จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ หลังจากสิ้นสุดแผยการจัดสรรน้ำในช่วงหน้าแล้ง 11,762 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการเพาะปลูกต้นฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการในช่วงเดือนพฤกษาคม -กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนทิ้งช่วง
ขณะที่ผลการปลูกพืชฤดูแล้งขณะนี้พบว่า มีการเพาะปลูกเกินแผนไปประมาณ 40,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าพื้นที่นาปรัง 1 ล้านไร่ ในเขตชลประทานจะไม่เกิดความเสียหายสามารถเก็บเกี่ยวได้ ส่วนพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งขณะนี้มีเพียง 2 จังหวัด คือ จังหวัดอุตรติดถ์ และเชียงราย.