กรณีอาคารอะพาร์ตเมนต์ 9 ชั้นทรุดหลังห้างเซียร์สตรีท

ข่าวอสังหา Tuesday April 2, 2013 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส การทรุดตัวของอาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว สิ่งที่พึงดำเนินการก็คือการประกันภัยทางวิชาชีพ (Indemnity Insurance) สำหรับนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อลดทอนความสูญเสียของผู้เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่บ่ายวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2556 อาคารอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งหลังห้างสรรพสินค้าเซียร์สตรีท ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ไปดูอาคารดังกล่าว และคณะทำงานของศูนย์ฯ ได้มีความเห็นดังนี้ อาคารหลังนี้ตั้งอยู่หลังห้างสรรพสินค้าเซียร์สตรีท ข้างหมู่บ้านภูมรินทร์ ในเขตเทศบาลเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ห่างจากถนนพหลโยธินประมาณ 800 เมตร เริ่มทรุดตัวลง และทรุดตัวมากดังภาพที่เห็นเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. อะพาร์ตเมนต์แห่งนี้สูง 7 ชั้น มีชั้นดาดฟ้าที่ต่อเติมแล้ว เป็นอาคารคู่ โดยอาคารหนึ่งทรุดเอียงไปทางด้านเหนือ ประมาณ 10 องศา และด้านตะวันออก ประมาณ 5 องศา อาคารนี้มีขนาดประมาณ 10,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท แต่อาคารตามสภาพก่อนชำรุดน่าจะก่อสร้างไปแล้วประมาณ 70% เพราะงานโครงสร้างแล้วเสร็จแล้ว กำลังอยู่ระหว่างดำเนินงานสถาปัตยกรรมและงานระบบประกอบอาคาร เป็นเงินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 70 ล้านบาท หากแล้วเสร็จอาคารนี้น่าจะสามารถให้เช่าได้เป็นเงินปีละ 9.984 ล้านบาท (8 ชั้น ๆ ละ 20 ห้อง ๆ ละ 50 ตารางเมตร เป็นเงินห้องละ 6,500 บาท โดยมีรายได้สุทธิ 80%) หรือมีมูลค่าประมาณ 142.6 ล้านบาท (ณ อัตราผลตอบแทนที่ 7%) ทั้งนี้เงินจำนวนนี้เป็นเพียงการประมาณการเพราะไม่มีผังอาคารประกอบการประเมิน ในการนี้จำเป็นต้องรื้อถอนทั้งอาคารโดยค้ำอาคารด้านทิศเหนือไว้ แล้วค่อย ๆ รื้อถอนทีละชั้น เพื่อความปลอดภัยของอาคารรอบข้าง อย่างไรก็ตามในกรณีอาคารอีกหลังหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกัน คงต้องมีการตรวจสอบสภาพโดยละเอียดก่อนการใช้งาน สำหรับสาเหตุของการทรุดตัวนี้ อาจมีตั้งแต่ปัญหาในขั้นตอนการออกแบบ หรือในขั้นตอนการก่อสร้างและการควบคุมก่อสร้างอาคาร ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ดินแปลงนี้จะนำมาใช้เป็นอะพาร์ตเมนต์นั้น ที่ดินแปลงดังกล่าว มีสภาพเป็นหนองน้ำ และอยู่ในบริเวณที่ถูกน้ำท่วมขังในช่วงปี พ.ศ. 2554 อีกด้วย สิ่งที่ในวงการก่อสร้างควรดำเนินการในอนาคตก็คือการให้บริษัทวิชาชีพที่เกี่ยวข้องการทำประกันภัยทางวิชาชีพ (Indemnity Insurance) ในกรณีการทดสอบสภาพดิน การออกแบบอาคาร การควบคุมการก่อสร้าง และการก่อสร้างอาคาร เป็นต้น เพื่อว่าหากเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด จะได้มีผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ในอนาคตเมื่อประเทศไทยเปิดตลาดตามประชาคมอาเซียน การประกันภัยในวิชาชีพนี้จำเป็น ๆ อย่างยิ่งเพราะในประเทศอื่น ๆ มีการดำเนินการ และการประกันภัยนี้จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างตรายี่ห้อสินค้าให้กับบริการทางวิชาชีพของไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลอีกด้วย ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ