แอพพลิเคชั่นสำหรับอุทยานแห่งชาติบนมือถือ

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday April 2, 2013 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี A-Eye แอพพลิเคชั่นเจ๋งบนมือถือสมาร์ทโฟนฝีมือเด็ก มจธ. ทำหน้าที่เสมือนรุกขเทวดา เปิดโซเชียลเน็ตเวิร์กให้นักท่องเที่ยว แค่ถ่ายและกดแชร์ภาพเหตุร้ายในป่า ทั้งการตัดไม้ ไฟป่า น้ำป่า ก่อนเจ้าหน้าที่อุทยานแจ้งเหตุฉุกเฉินเตือนนักท่องเที่ยว ลดการสูญเสีย ช่วยสอดส่องธรรมชาติ ลดปริมาณโบว์ชัวร์เพราะทำหน้าที่เสมือนไกด์นำเที่ยวเส้นทางธรรมชาติได้ทั้งคนไทยและต่างชาติ การดูแลรักษาป่าใช่เพียงเป็นงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้อีกต่อไป คนเมืองหัวใจสีเขียวที่ดูห่างไกลเกินไปเมื่อพูดถึงเรื่องดูแลรักษาป่าก็สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าได้โดยตรง เมื่อมีแอพพลิเคชั่น “A-Eye” แอพพลิเคชั่นฝีมือนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ที่นับวันยิ่งมีจำนวนลดลง แอพพลิเคชั่นบนมือถือที่ว่านี้เป็นผลงานของ ภัทรวุฒิ เรืองกนกมาศ ชณิดา ดีโรจนเดช จิตนันท์ มีนไชยอนันต์ และ ศุภัชญา พวงพรทิพ 4 นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ.ที่เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย 2013 (NSC 2013) ในมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 ประเภท Environment App Contest มาหมาดๆ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลงานชิ้นนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า A-Eye (Extra eyes assisting in the environmental surveillance of the national parks) เป็นระบบอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รักษาป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติรวมทั้งเป็นตัวช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยระบบถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้อันมีสาเหตุมาจากการทำลายพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติ และจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอในการสอดส่องดูแลเหตุการณ์ผิดปกติต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม เช่น การเกิดไฟป่า การลักลอบตัดไม้ทำลายสัตว์ป่า A-Eye เป็นแอพพลิเคชั่นที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ระหว่างการท่องเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติ ผ่านการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟน ภัทรวุฒิ เรืองกนกมาศ นักศึกษาวิศวคอมพิวเตอร์ ชั้นปี 4 มจธ.หนึ่งในทีมผู้คิดค้น กล่าวว่า เหตุผลที่พวกเขาพัฒนาระบบดังกล่าวบนมือถือสมาร์ทโฟน เนื่องจาก มีคนจำนวนมากนิยมใช้อีกทั้งยังสะดวกต่อการพกพา หลังจากที่พวกเขาคิดที่จะตอบโจทย์ของสังคมเรื่องป่าไม้ ต่อมาก็คิดวิธีการช่วยในการเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่างๆอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าไม้ลดลง ทั้งการลักลอบตัดไม้และไฟป่า พวกเขาคิดว่านอกจากเจ้าหน้าที่รักษาป่าแล้วคนทั่วไปก็น่าจะมีส่วนร่วม โดยมีนักท่องเที่ยวเป็นจุดเน้นเพราะบุคคลกลุ่มนี้มีโอกาสพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน จึงคิดให้นักท่องเที่ยวโหลดแอพพลิเคชั่น A-Eye และสามารถถ่ายภาพและระบุรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งข้อมูลไปยังศูนย์เฝ้าระวัง ซึ่งการถ่ายภาพจะบอกพิกัดที่เกิดเหตุดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่มอนิเตอร์ข้อมูลจะทราบทันทีว่าเหตุเกิดที่จุดใด” “สมมติว่านักท่องเที่ยวเจอไฟป่า หรืออุบัติเหตุอื่น ก็สามารถถ่ายรูปแล้วส่งไปยังศูนย์ควบคุมซึ่งมีเจ้าหน้าที่อุทยาน มอนิเตอร์ข้อมูลผ่านเว็บแอพพลิเคชั่น ถ้าหากตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าเป็นความจริง จะมอบหมายงานนั้นๆให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไปดำเนินการแก้ไข แต่หากเป็นเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า ที่มีความอันตรายต่อทุกชีวิตในบริเวณกว้าง ในฟังกัชั่นแผนที่ของแอพพลิเคชั่นจะแจ้งพิกัดขอบเขตพื้นที่อันตรายเป็นวงกลมสีแดง เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นนี้บนมือถือสามารถเดินทางออกจากพื้นที่อันตรายไปยังพื้นที่สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย แต่ในเหตุการณ์ปกตินักท่องเที่ยวที่พบเห็นพันธุ์ไม้หรือสัตว์ป่าหายากที่น่าสนใจ ก็สามารถถ่ายรูปแล้วแชร์ขึ้นบนแอพพลิเคชั่นให้นักท่องเที่ยวคนอื่นๆที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสามารถเดินทางมาดูได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์คของนักเดินป่าได้อีกด้วย นางสาวชณิดา ดีโรจนเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเป็นแอพพลิเคชั่นช่วยเหลือสังคมแล้วผู้ใช้ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีส่วนเพิ่มเติม (features) ที่เป็นการจำลองแผนที่เสมือนจริงทำหน้าที่แทนไกด์แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยาน บอกเส้นทางการเดินทางไปยังจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ โดยแสดงรูปภาพตัวอย่างของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น แผนที่และรายละเอียดประวัติความเป็นมา รวมถึงข้อมูลสำคัญของสถานที่นั้นๆ โดยอุทยานไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดพิมพ์แผ่นพับ แก้ไขปัญหาแผ่นพับไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงฤดูการท่องเที่ยว และเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้จากการถูกทำลายจากการผลิตแผ่นพับได้อีกด้วย นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นนี้ยังช่วยแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่ในด้านการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วยการนำเสนอคำแนะนำทั้งภาพและเสียงเป็นภาษาสากล โดยเพิ่มรายละเอียดข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวให้ครบถ้วนมากกว่าแผ่นพับ อีกทั้งยังดึงดูดผู้ใช้ด้วยการนำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาผสมผสาน โดยสามารถถ่ายรูปแล้วแชร์ได้อีกด้วย รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ที่ปรึกษาโครงการกล่าวเพิ่มเติมว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการรู้นอกห้องเรียน เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์จากสถานที่จริง มุ่งสู่ความโกอินเตอร์ไปพร้อมกับการมีจิตสาธารณะต่อส่วนรวม ใช้ความรู้ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างสร้างสรรค์ช่วยเหลือสังคม และประสานงานได้ดีกับอุตสาหกรรมให้ความช่วยเหลือทั้งในแง่เทคนิคและคำปรึกษา “โดยเฉพาะนักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์โอกาสที่เข้าจะออกไปทำงานอย่างนี้น้อยมาก นี่เป็นครั้งแรกของนักศึกษา 4 คนนี้ ที่เขาต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในป่า เพราะการทำแอพพลิเคชั่นนี้จะต้องสำรวจพื้นที่จริง โดยต้องเก็บพิกัดสถานที่ท่องเที่ยว ต้องออกแบบแผนที่ให้น่าดึงดูดต่อการใช้งานด้วยตนเอง ต้องเขียนบท ต้องอัดเสียง ซึ่งมากเกินกว่านักพัฒนาระบบอย่างพวกเขาจะต้องทำ แต่เราต้องการให้เขาเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาทำได้แม้ว่าเขาจะไม่ถนัดก็ตาม” รศ.ดร.ธีรณี กล่าวและเพิ่มเติมว่า แม้ว่าปัจจุบันแอพพลิเคชั่นนี้จะมีการวางพิกัดและมีพื้นที่ดำเนินงานเฉพาะอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย จังหวัดเชียงใหม่ แต่แอพพลิเคชั่นดังกล่าวถูกออกแบบให้สามารถเปลี่ยนข้อมูลอุทยาน(Content) โดยจะมีส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ที่สามารถถ่ายโอนข้อมูลเพื่อรองรับข้อมูลของอุทยานอื่นๆ เพื่อให้อุทยานที่มีความสนใจสามารถจัดทำข้อมูลและอัพโหลดข้อมูลของอุทยานของตนมาใช้งานบนแอพพลิเคชั่น A-Eye ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ