ซีพีเอฟต่อยอดธุรกิจ มุ่งเป็นผู้นำตลาดไส้กรอกของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Monday September 12, 2005 09:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
ซีพีเอฟ ซื้อธุรกิจเนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารพร้อมรับประทานเพื่อเสริมศักยภาพการเป็น “ครัวของโลก” ขึ้นเป็นผู้นำตลาดไส้กรอกของประเทศไทยด้วยสัดส่วนตลาดกว่า 40 % พร้อมได้ตลาดอาหารไทยแถบสแกนดิเนเวีย รวมถึงได้ตลาดและขยายฐานการผลิตเนื้อสุกรปรุงสุกทันที
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร (Adirek Sripratak, President & CEO) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัท ซีพีเอฟ มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ซีพีเอฟ ถือหุ้นทางตรง และทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของทุนที่ออกและชำระแล้ว เข้าซื้อทรัพย์สินในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซี.พี.อินเตอร์ฟู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด [ C.P. Interfood (Thailand) Company Limited : CPIF
] โดยธุรกิจที่จะเข้าซื้อ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน บาโลน่า ลูกชิ้น แหนม หมูยอ นักเก็ต เบอร์เกอร์ และข้าวกล่องอาหารไทยสำเร็จรูปแช่แข็ง เป็นต้น
ซี.พี.อินเตอร์ฟู้ดฯ เป็นผู้นำในตลาดไส้กรอกในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ ซีพี และมิสเตอร์ซอสเซส และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารไทยพร้อมรับประทานไปยังประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียน ซึ่งแบรนด์ Kitchen Joy ของซี.พี.อินเตอร์ฟู้ด ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
การเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ ทำให้กลุ่มบริษัท ซีพีเอฟได้มาซึ่งฐานการผลิต ฐานลูกค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย และส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ และอาหารแช่แข็งทันที อันจะทำให้ซีพีเอฟ เป็นผู้นำในตลาดไส้กรอกของประเทศไทย และยังเป็นการเสริมธุรกิจการผลิตอาหารไทยส่งออกไปต่างประเทศของซีพีเอฟให้มีความแข็งแกร่ง และมีตลาดที่หลากหลายขึ้น การรวมธุรกิจนี้ยังส่งผลให้ต้นทุนในการผลิต ต้นทุนในการทำการตลาดประชาสัมพันธ์ ต้นทุนในการขายมีประสิทธิภาพดีขึ้น อันจะส่งผลให้มีอัตราการทำกำไรให้กับสายธุรกิจนี้ดีขึ้น และการรวมธุรกิจในครั้งนี้ เป็นส่วนสุดท้ายในการต่อยอดให้กลุ่มบริษัทซีพีเอฟ ขณะเดียวกันก็เป็นการรวมธุรกิจผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยของเครือเจริญโภคภัณฑ์อย่างสมบูรณ์
ทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันดังกล่าว ประกอบด้วย สินทรัพย์ถาวร สินค้าคงเหลือ ในมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดมูลค่าของสินทรัพย์ถาวร ประกอบด้วย ที่ดิน อาคารโรงงาน สำนักงาน และสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ และอื่นๆ มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 785.5 ล้านบาท กำหนดมูลค่าโดยอ้างอิงจากราคาประเมินของผู้ประเมินราคาอิสระ และเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดมูลค่าสินค้าคงเหลือ ที่ประกอบด้วย สินค้าสำเร็จรูป สินค้าระหว่างผลิตวัตถุดิบ วัสดุสิ้นเปลืองและอื่นๆ มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 214.5 ล้านบาท กำหนดมูลค่าตามราคาตลาด อย่างไรก็ตาม มูลค่าของสินค้าคงเหลือที่จะต้องชำระจริงอาจเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หรือลดลงจากจำนวนนี้ได้ หากปริมาณสินค้า ณ วันที่มีการส่งมอบเปลี่ยนแปลงไปจากปริมาณสินค้าที่ระบุไว้ในสัญญา
ข้อมูลทางธุรกิจที่สำคัญของ CPIF สำหรับงวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2545 2546 และ 2547 มีดังนี้
สำหรับงวดบัญชีประจำปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม
(หน่วย: ล้านบาท) 2545 2546 2547
ยอดขาย 2,231 2,517 2,906
กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา 221 202 260
กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี 162 130 177
กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 111 72 111--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ