กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--จอมครีเอท
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับวัดโพธิ์ จัดงานสืบสานตำนานภูมิปัญญาไทย ชูความอลังการของมรดกการแพทย์แผนไทย สู่สุขภาพโลก เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช โดยจัดทำคู่มือการไหว้ครูแพทย์แผนไทยต้นแบบฉบับแรกของไทย คู่มือฤาษีดัดตน และการจัดงานยิ่งใหญ่ที่วัดโพธิ์ วันที่ 24-28 เมษายนนี้ เผยแพร่เอกลักษณ์ภูมิปัญญาของชาติ แก่สายตาชาวไทยและชาวโลก ทั้งเรื่องยาไทย สาธิตการปรุงตำรับยาไทยด้วยสมุนไพรใกล้ตัว ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การนวดไทย การผดุงครรภ์ตามตำราโบราณ รวมพลออกกำลังกายท่าฤาษีดัดตน 2,556 คน
นายแพทย์สมชัย นิชพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานในพิธีไหว้ครูแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมไทย และมีความสำคัญต่อศาสตร์การแพทย์แผนไทย เพื่อรำลึกถึงพระคุณของครูแสดงออกถึงความกตัญญูรู้พระคุณครูที่ทำหน้าที่ประสิทธิประศาสตร์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาโดยตลอด โดยมีแพทย์แผนไทยและองค์กรเครือข่ายร่วมพิธี 300 คน
นายแพทย์สมชัย กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดขององค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาของบรมครูแพทย์แผนโบราณ จัดงานสืบสานตำนานภูมิปัญญาไทย มรดกไทย สู่สุขภาพไทยและสุขภาพโลก ที่วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กทม. ระหว่างวันที่ 24- 28 เมษายน 2556 นี้ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช สร้างกระแสการรับรู้ประโยชน์จากการแพทย์แผนไทย ในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค แก่ประชาชน กระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาไทย เป็นงานระดับชาติที่ยิ่งใหญ่ เป็นการสืบสานอนุรักษ์และคุ้มครองภูมิปัญญาไทยให้ยั่งยืน แสดงเอกลักษณ์ภูมิปัญญาของชาติแก่ชาวไทยและชาวโลก
งานดังกล่าว ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน ม่งสู่อนาคต ประกอบด้วยพิธีการไหว้ครูแพทย์แผนไทยต้นแบบที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยได้จัดทำเป็นคู่มือฉบับแรกในประเทศ และจัดทำคู่มือฤาษีดัดตน จำนวน 25,000 เล่ม และพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เผยแพร่ประชาชน
กิจกรรมที่ 2 คือกิจกรรมก้าวย่างการนำการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรสู่ประชาชน ซึ่งจัดที่บริเวณเขตพุทธวาส วัดโพธิ์ ระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน 2556 เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและส่งเสริมให้มีการใช้ยาสมุนไพรของประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยาที่คนไทยใช้ร้อยละ 70 เป็นยาแผนปัจจุบันนำเข้า ส่วนยาสมุนไพรไทย ยังใช้น้อยมาก ยังไม่ถึงร้อยละ 10 โดยภายในงานนี้ มี 4 กิจกรรมใหญ่ ได้แก่ 1. นิทรรศการองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย 4 ประเภท ซึ่งเป็นนิทรรศการที่มีชีวิต ได้แก่ เภสัชกรรม สอนสาธิตการปรุงตำรับยาไทยด้วยสมุนไพรใกล้ตัว ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การผดุงครรภ์ดูแลแม่และทารกตามตำราโบราณจากอดีตถึงปัจจุบัน และการนวดไทย สอนสาธิต การนวดในครัวเรือน การนวดตนเอง และบริการนวดไทย 2. การเสวนาวิชาการเรื่องสืบสานตำนานภูมิปัญญาท่าฤาษีดัดตน ซึ่งที่วัดโพธิ์มี 80 ท่า และตำนานแม่ซื้อ เชื่อมโยงการดูแลสุขภาพถึงปัจจุบันและอนาคต และพระราชบัญญัติการแพทย์ 3. การจัดกิจกรรมรวมพลการออกกำลังกายด้วยท่าฤาษีดัดตนจำนวน 2,556 คนรณรงค์ให้ความรู้ท่าฤาษีดัดตนป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรม และ 4. นิทรรศการการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยตามฤดูกาล ให้ความรู้ตำรับยาใช้กับโรคตามฤดูกาล กลุ่มเฉพาะโรค กลุ่มอายุ และประเภทเสริมสุขภาพ ชุดความรู้ตำรับยาสมุนไพร สำรับอาหารพื้นบ้านต้านโรคตามฤดูกาล ทางด้าน
นายแพทย์สมชัย กล่าวว่า บรมครูแห่งการแพทย์แผนไทยที่นำมาบูชาในพิธีไหว้ครูต้นแบบ มี 3 องค์ ได้แก่ 1 พระไภสัชคุรุไวทูรยประภา ผู้เปรียบดังกริ่งกังวานปัดเป่าโรคภัย 2. บรมครูชีวกโกมาภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกด้านเภสัชกรรม และ 3. บรมครูพระฤาษี ผู้ค้นพบคุณค่าตำรับยาสมุนไพรต่างๆ และท่าดัดตนบำบัดโรค เครื่องบูชา ประกอบด้วยดอกไม้ ธูป เทียน บายศรี เครื่องเซ่นสังเวย ได้แก่ผลไม้ ขนมหวาน เครื่องสมุนไพร ตำรา อุปกรณ์การเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทย ไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ทั้งนี้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เนื่องจากเป็นที่รวมวิทยาการทุกด้าน ทั้งด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และประติมากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยครบวงจร ที่จารึกอยู่บนศาลารายซึ่งบรรพบุรุษใช้ในการบำบัดรักษา ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ครบถ้วนตามหลักและทฤษฎีทางการแพทย์ เป็นแหล่งรวมความรู้ทั้งด้านเภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย การผดุงครรภ์ การนวดไทย และท่าฤาษีดัดตน จารึกลงบนแผ่นหินอ่อนจำนวน1,360 แผ่น มีการปั้นรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ จำนวน 80 ท่า เพื่อใช้อธิบายประกอบตำรับตำรา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักยอมรับและโด่งดังไปทั่วโลก ได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศรับรองจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกแห่งความทรงจำแห่งโลกในระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม2554 ที่ผ่านมา