กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์
กรมการแพทย์ฝังรากฟันเทียมข้าวอร่อยแก่ผู้สูงอายุทั่วไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งเป้า 8,400 ราย พร้อมแนะการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้องหลังการใส่รากฟันเทียม
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์โครงการรากฟันเทียมข้าวอร่อยสู่ภูมิภาคกับ กรมการแพทย์ ว่า ปัญหาการสูญเสียฟันในช่องปาก เนื่องจากอุบัติเหตุหรือขาดการดูแลสุขภาพช่องปากย่อมส่งผลเสียมากมาย ทั้งความมั่นใจ การเข้าสังคม และที่สำคัญสร้างปัญหาต่อระบบบดเคี้ยว จนทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมา สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ดำเนินการโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องปีงบประมาณ 2550-2552 ให้บริการฝังรากฟันเทียมแก่ผู้ป่วยสูงอายุและด้อยโอกาส จำนวน 10,000 ราย และได้ดำเนินการโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญในการให้บริการผู้ป่วยรากฟันเทียม ประกอบกับยังมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่มีความจำเป็นในการรับบริการ ฝังรากฟันเทียม โดยมีเป้าหมายดำเนินงานฝังรากฟันเทียมแก่ผู้ป่วย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 — 2557 ปีละ 2,800 ราย รวม 8,400 ราย จากการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ พบว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้จัดทำโครงการรากฟันเทียมข้าวอร่อยสู่ภูมิภาคกับกรมการแพทย์ขึ้น เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการรากฟันเทียมฯ และการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้องภายหลังการใส่รากฟันเทียมแก่ผู้ป่วยและประชาชนที่สนใจ รวมถึงการอบรมความรู้เบื้องต้น ด้านการคัดกรองและการดูแลผู้ป่วยรากฟันเทียมให้แก่ทันตภิบาล ตลอดจนการให้บริการด้านทันตกรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะมีขึ้นในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ เพื่อให้บริการประชาชนครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ คือ ผู้ไม่มีฟันธรรมชาติเหลืออยู่เลยและใส่ฟันเทียมทั้งปากชนิดถอดได้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถรับการผ่าตัดได้ ไม่มีประวัติโรคจิต ไม่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือดที่ควบคุมไม่ได้ ไม่สูบบุหรี่ หรือสูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน ไม่ได้รับยากลุ่ม bisphosphonate ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำซึ่งใช้รักษาโรคกระดูกพรุน ไม่เคยได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณกระดูกขากรรไกรและลำคอ และสามารถดูแลสุขภาพช่องปากให้อยู่ในสภาพที่ดี มีทัศนคติที่ดีต่อการใส่ฟัน เข้าใจขั้นตอนการรักษา การใช้งานรากฟันเทียม สามารถดูแลรักษาฟันเทียมและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงสามารถรับการรักษาและติดตามผลได้ตามนัดอย่างน้อย 6-7 ครั้ง
ทันตแพทย์หญิงฉวีวรรณ ภักดีธนากุล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ใส่รากฟันเทียมต้องดูแลตนเอง ดังนี้ แปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือทุกครั้งหลังอาหาร ร่วมกับการใช้ไหม ขัดฟัน บางกรณีต้องใช้แปรงซอกฟันหรือแปรงชนิดจุกเดี่ยวก่อนนอนให้ถอดฟันเทียมแช่น้ำไว้ ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟัน หรือเครื่องมือใดๆแคะหรืองัดที่รากฟันเทียม ไม่ควรกัดแทะอาหาร หรือสิ่งของใดกับรากฟันเทียมโดยตรง ที่สำคัญควรไปพบแพทย์ทุก 6 เดือน หรือตามทันตแพทย์นัดหมาย เพื่อตรวจเช็คสภาพและทำความสะอาดขูดหินปูนที่อาจเกิดสะสม อยู่บนรากฟันเทียม
ติดต่อ:
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการแพทย์ 0 25918254