กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--NECTEC
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๓ เมษายน ๒๕๕๖ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ( สวทช.) เดินหน้าส่งผลงานสู่ภาคธุรกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ล่าสุดประกาศเปิดตัวแอพพลิเคชั่น “S-Sense แอพฯวัดความรู้สึกคนไทยบนโซเซียลมีเดีย” พร้อมเปิดเว็บไซต์ http://pop.ssense.in.th ให้ประชาชนทั่วไปได้ติดตามข้อมูลความรู้สึกของผู้ที่ใช้ภาษาไทยบนโซเซียลมีเดียแบบเรียลไทม์ พร้อมตั้งเป้าหมายถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนใช้การติดตามแบรนด์ (Brand Monitoring) หรือ การวิจัยตลาด (Market Research) ใช้สำรวจความพึงพอใจและติดตามทัศนคติของสาธารณะที่มีต่อผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ด้วยเทคโนโลยีซอฟแวร์และสารสนเทศดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ตัวอย่างประโยชน์ที่ได้รับจากแอพพลิเคชั่นS-Sense ทีมนีกวิจัยเนคเทคได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจล่าสุดพบว่าในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม ๒๕๕๖
สถานที่ท่องเที่ยวที่มีการพูดถึงบนโลกโซเซียลมีเดียและ Check-In มากที่สุด ๑๐ อันดับแรก คือ ๑.พารากอน ๒.เซ็นทรัลเวิลด์ ๓.เชียงใหม่ ๔.เขาใหญ่ ๕.เยาวราช ๖.สวนสยาม ๗.เอเชียทีค ๘.ปาย ๙.สวนรถไฟ ๑๐.หอศิลป์
สถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนโลกโซเซียลมีเดียกล่าวเชิงบวก (positive) มากที่สุด ๑๐ อันดับแรกคือ ๑.ถนนข้าวสาร ๒.สวนสยาม ๓.หอศิลป์ ๔.เชียงคาน ๕.อัมพวา ๖.วังน้ำเขียว ๗.พารากอน ๘.เกาะล้าน ๙.ภูหินร่องกล้า ๑๐.แม่สาย
สถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนโลกโซเซียลมีเดียกล่าวเชิงลบ (negative) มากที่สุด ๑๐ อันดับแรกคือ ๑.ภูชี้ฟ้า ๒.แก่งกระจาน ๓.แม่ฮ่องสอน ๔.ปราสาทพระวิหาร ๕.เขาพระวิหาร ๖.สวนจตุจักร ๗.ปาย ๘.เชียงใหม่ ๙.เขาค้อ ๑๐.สวนลุม
เอสเซนส์ (S-Sense: Social Sensing) เป็นเครื่องมือสำหรับรวมรวม ติดตาม วิเคราะห์ ประมวลผลข้อความบนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter, YouTube, Pantip.com ฯลฯ เนื่องจากข้อความส่วนใหญ่ในโลกไซเบอร์นิยมใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการหรือภาษาพูด รวมทั้งมีโครงสร้างประโยคที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทย จึงทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ ดังนั้นเทคโนโลยีของ S-Sense จึงถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาด้วยเทคนิคการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) การทำเหมืองข้อความ (Text Mining) และการวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกจากข้อความ (Sentiment Analysis) เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อความที่ใช้ภาษาพูดและไม่เป็นทางการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบ S-Sense สามารถนำมาช่วยให้ธุรกิจหรือองค์กรรับรู้กิจกรรมความเคลื่อนไหวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของตนและตรวจสอบความพึงพอใจและติดตามทัศนคติของสาธารณะที่มีต่อยี่ห้อ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆของตนได้ เพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ระบบ S-Sense สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานต่างๆได้ดังต่อนี้
การติดตามแบรนด์ (Brand Monitoring) หรือ การวิจัยตลาด (Market Research) เพื่อสำรวจความพึงพอใจและติดตามทัศนคติของสาธารณะที่มีต่อผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองหรือของคู่แข่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงยิ่งขึ้น
การสำรวจผลการตอบรับ (Feedback) ของลูกค้าหรือสาธารณชนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ แคมเปญใหม่การสำรวจความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร (Employee Engagement) โดยวิเคราะห์ข้อความที่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่พนักงานได้โพสต์เป็นคำถามหรือแสดงความคิดเห็น
ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมและพบกับทีมนักวิจัยผู้พัฒนาระบบ S-Sense ได้ที่บูธนิทรรศการหมายเลข ๒๖๕ ในงาน Thailand Online Expo "ENJOY THE FUTURE" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๕ — ๒๘ เมษายน ๒๕๕๖ และลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น S-Sense อย่างเป็นทางการในเวที Focus Group วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. ลงทะเบียนได้ที่ http://www.thailandonlineexpo.com/
ติดต่อ:
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา:
ดร.อลิสา คงทน
ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเสียง
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
112 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 02-564-6900 ต่อ 2240
อีเมล: alisa.kongthon@nectec.or.th