ก.เกษตรฯ คาดการณ์น้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำของประเทศมีเพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้ง

ข่าวทั่วไป Thursday April 4, 2013 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ ก.เกษตรฯ คาดการณ์น้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำของประเทศมีเพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้ง เผยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังช่วงน้ำน้อย พื้นที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรว่า ตามที่กรมชลประทานได้กำหนดแผนการใช้น้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งรวม 23,570 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อุปโภคและบริโภค 1,846 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์ 6,600 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร 14,900 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 224 ล้าน ลบ.ม.ขณะนี้ได้จัดสรรน้ำไปแล้วรวม 17,368 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของแผนการจัดสรรน้ำ ซึ่งจากการประมาณการณ์ของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าในช่วงเวลาที่เหลือของ ฤดูแล้งอีกประมาณ 1-2 เดือนนี้ จะมีน้ำใช้เพียงพอจนถึงต้นฤดูฝนอย่างแน่นอน และทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนพ.ค.ฝนจะมาเร็วกว่าปรกติ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทยทำให้เกิดฝนตกเติมน้ำในเขื่อนและแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆของประเทศ โดย จากการสำรวจน้ำต้นทุนในพื้นที่ต่างๆ พบว่ายังคงมีเพียงพอและเกษตรกรได้รับผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีจากเกษตรกรจึงทำให้พื้นที่ปลูกข้าวเสียหายเพียงเล็กน้อย โดยช่วงภัยแล้งตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน พบว่า ด้านพืชได้รับผลกระทบเพียง 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงรายและอุตรดิตถ์ พื้นที่เสียหายรวม 1,202 ไร่ ด้านประมง 1 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 1,121 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ส่วนด้านปศุสัตว์ไม่มีรายงานผลกระทบ “การดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะสั้น ซึ่งยังมีเวลาอีกประมาณ 2 เดือนที่เหลือ ได้กำชับ ให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการ ทำนาปรัง เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งรัดทางจังหวัด ตรวจสอบความซ้ำซ้อนให้แล้วเสร็จ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยได้ทันก่อนฤดูการเพาะปลูกในรอบต่อไป ” นายชวลิต กล่าว สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วง ปี 2555 ได้ดำเนินการสำรวจความเสียหาย แล้วเสร็จ พบว่า ด้านพืชเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1.3 แสนราย พื้นที่เสียหาย 1.2 ล้านไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 818 ล้านบาท ช่วยเหลือไปแล้ว 34 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 784 ล้านบาท สำหรับภัยแล้ง ปี 2556 ช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.55 ด้านพืช เกษตรกรได้รับผลกระทบ 6.1 แสนราย พื้นที่เสียหาย 4.5 ล้านไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 2,795 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้ว 8 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,786 ล้านบาท ด้านประมง เกษตรกร 1,083 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย 4,633 ไร่ ช่วยเหลือแล้ว 0.1 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 42 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ