กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ซีพีเอฟ
น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านบริการวิชาการสัตว์ปีก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวถึงกรณีที่ทางการจีนแถลงข่าวว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกชนิด เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ว่า เชื้อดังกล่าวที่พบนี้ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนกอีกสายพันธุ์หนึ่ง นอกเหนือจากชนิด เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ที่มีการระบาดในประเทศจีนอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับประเทศไทยกรมปศุสัตว์ได้แจ้งองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ว่าไทยปลอดโรคไข้หวัดนกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 4 ปี ที่ไม่พบรายงานการเกิดโรค เนื่องจากที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ภาคเอกชน และเกษตรกร ได้ร่วมกันดูแลเผ้าระวังการเกิดโรคอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ขณะที่หลักการ “คอมพาร์ทเมนต์” ที่ซีพีเอฟดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สามารถช่วยป้องกันโรคไข้หวัดนกได้อย่างแน่นอน
น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟ ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ในการจัดทำโครงการธุรกิจอาหารแปรรูปครบวงจรปลอดโรคไข้หวัดนก ด้วยการนำหลักการ “คอมพาร์ทเมนต์” ซึ่งเป็นแนวคิดของ OIE มาใช้อย่างเคร่งครัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน โดยซีพีเอฟเป็นผู้ผลิตสัตว์ปีกแห่งแรกของโลก ที่ทุกฟาร์มในระบบคอมพาร์ทเมนต์ ปลอดจากโรคไข้หวัดนกตามเงื่อนไขของกรมปศุสัตว์และตามมาตรฐานสากล อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อสัตว์ปีกของซีพีเอฟ ก็ได้รับความเชื่อมั่นและความมั่นใจในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยมาโดยตลอด
สำหรับคำแนะนำแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ในช่วงนี้ต้องใส่ใจและเข้มงวดกับมาตรการป้องกันโรคที่ดำเนินการอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดนกได้ ขณะเดียวกัน ควรปฏิบัติตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ ทั้งในด้านการดูแลสัตว์เลี้ยง การควบคุมและการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกออกจากพื้นที่ ตลอดจนการกำจัดสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตายอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีการเผาหรือฝังกลบอย่างถูกวิธี หากมีสัตว์ปีกตายผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทันที
ในส่วนของผู้บริโภค ควรเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตจากกรมปศุสัตว์ หรือเนื้อสัตว์ปีกสดที่มีกระบวนการผลิตทันสมัย ถูกสุขอนามัย บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกมิดชิด ขณะเดียวกันต้องบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น ที่สำคัญคือการปฏิบัติตามหลักการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ การทานร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ
ทั้งนี้ ระบบคอมพาร์ทเมนต์สัตว์ปีกปลอดโรคไข้หวัดนก จะให้ความสำคัญการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่เชื่อมโยงภายในหน่วยงานและสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคเพื่อให้ฝูงสัตว์ปีกมีสถานะปลอดจากโรคไข้หวัดนก โดยมีการจัดการที่สำคัญ 4 หมวดหลัก ได้แก่ 1. มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสถานประกอบการ ตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม หรือ HACCP สำหรับโรคไข้หวัดนก 2. การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ 3. การควบคุมโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และ 4. การตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้สามารถติดตามข้อมูลการผลิตได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร เริ่มจากโรงงานอาหารสัตว์ ถึงโรงงานอาหารแปรรูป