PwC เผยผลสำรวจความยั่งยืนธุรกิจอาเซียนปี’56 แนะเอกชนเร่งยกระดับการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเออีซี

ข่าวทั่วไป Thursday April 4, 2013 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--PwC Thailand PwC เผยผลสำรวจค.ยั่งยืนธุรกิจอาเซียนปี’56 แนะเอกชนเร่งยกระดับการพัฒนาค.ยั่งยืนองค์กร เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเออีซี พีดับบลิวซี ชี้การทำธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Corporate sustainability) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังภาคธุรกิจ ตลาดทุนในอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ อย่างต่อเนื่อง แต่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และการปลูกจิตสำนึก ยังคงเป็นประเด็นความท้าทายที่ต้องมีการส่งเสริมผลักดันอย่างจริงจังในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ต้นทุนคาร์บอนและพลังงานจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจในอาเซียนกว่าร้อยละ 80 ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนธุรกิจ แต่ขาดการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจล่าสุด ชี้การทำธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า หลังภาคธุรกิจและตลาดทุนในภูมิภาค หันมาให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ อย่างต่อเนื่อง แต่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และการปลูกจิตสำนึก ยังคงเป็นประเด็นความท้าทายที่ต้องมีการส่งเสริมผลักดันอย่างจริงจังในอีก 3-5 ปีข้างหน้า นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ล่าสุด Going beyond philanthropy? —Pulse-check on sustainability ว่ากระแสการพัฒนาความยั่งยืนธุรกิจ ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรต่างๆในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น หลังผลสำรวจพบว่า มีบริษัทในอาเซียนที่ทำการสำรวจถึงร้อยละ 81 ที่มีการตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนทางธุรกิจ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของบรรดาธุรกิจในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ดี ยังมีบริษัทน้อยกว่าร้อยละ 50 ที่มีการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจของตนอย่างจริงจัง ในขณะที่ร้อยละ 5 ไม่ได้มีการวางแผนในเรื่องนี้เลย “การทำธุรกิจเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการวางแผน การ Engage ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมถึงสังคมด้วย ซึ่งในที่สุดจะส่งผลดีต่อความยั่งยืนขององค์กร ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า Sustainability ในที่นี้ มันเป็นมากกว่าการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป แต่แท้ที่จริงคือ การทำธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงการมีระบบควบคุม ตรวจสอบ การเปิดเผยข้อมูล และการเชื่อมโยงของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรในแต่ละฝ่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มากำหนดกรอบแนวคิดและวางกลยุทธ์ในเรื่องพัฒนาธุรกิจอย่างมีระบบ ครอบคลุมทุกมิติ,” นาย ศิระ กล่าว “ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องถึงจะเห็นผลอย่างยั่งยืน สำหรับแนวโน้มในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า เราคาดว่า จะยิ่งเห็นภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนให้ความสำคัญในเรื่อง Corporate sustainability ต่อธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ,” เขา กล่าว ทั้งนี้ ผลสำรวจฉบับนี้ ถูกจัดทำขึ้นระหว่างเดือน สิงหาคม ถึง กันยายน 2555 โดยทำการสำรวจผู้บริหารบริษัทจำนวน 211 รายในประชาคมอาเซียน 5 ประเทศที่กำลังพัฒนา ได้แก่ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ และ เวียดนาม ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำความเข้าใจถึงการบริหารจัดการความยั่งยืนขององค์กรในภูมิภาค และปัจจัยที่เป็นตัวผลักดัน รวมทั้งประเด็นอื่นๆ เช่น ระดับของการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนของบริษัทในอาเซียน เหตุผล ความเสี่ยง และการเตรียมความพร้อมของธุรกิจในแต่ละประเทศ นายศิระ กล่าวว่า ความยั่งยืนทางธุรกิจนั้น เติบโตควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยง (Risk management) เปรียบเสมือนการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนถาวร (Future resilience) ให้กับองค์กร ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหารระดับสูง “แต่สิ่งที่ผลสำรวจ PwC พบคือ มีบริษัทในอาเซียนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่มีการวางโครงสร้างผู้นำ (Leadership structure) ในเรื่องการพัฒนากิจกรรมความยั่งยืนทางธุรกิจอย่างมีระบบ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด KPI ที่เกี่ยวกับข้องผลการดำเนินงานของพนักงานในเรื่องธุรกิจยั่งยืน การให้ค่าตอบแทน สิ่งจูงใจทางการเงิน หรือแม้แต่การจัดตั้งคณะทำงานในระดับผู้บริหาร หรือกรรมการอาวุโส เข้ามาดูแลงานด้านความยั่งยืนขององค์กร นอกจากนั้น สิ่งที่น่ากังวลอีกประการก็คือ จากจำนวนบริษัทที่ทำการสำรวจกว่า 200 ราย มีเพียง 1 ในทุกๆ 5 บริษัทที่มีการนำเอาประเด็นเรื่องการพัฒนาธุรกิจยั่งยืนเข้ามาเป็นหนึ่งในวาระประจำของ Board agenda,” นาย ศิระ กล่าว ด้าน นาย ซานดาร่า ราจ Consulting Leader PwC ประเทศมาเลเซีย และ ผู้จัดทำผลสำรวจฉบับนี้ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต่างๆควรจะต้องมีการเปิดเผย แลกเปลี่ยนข้อมูลของกิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่องค์กรได้ทำเกี่ยวกับความยั่งยืนธุรกิจ (Sustainable initiatives) ลงในรายงานประจำปี (Annual report) หรือ การทำรายงานความยั่งยืน (Standalone sustainability report) ในอันที่จะสร้าง Public goodwill และความน่าเชื่อถือให้เกิดในหมู่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งชื่อเสียงที่ดีให้กับธุรกิจในระยะยาว “จำเป็นอย่างยิ่งที่ ผู้บริหารหรือซีอีโอในอาเซียนจะต้องมีการส่งเสริมวัฒนธรรมในเรื่องของความโปร่งใสภายในองค์กร โดยทำงานDirectly ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้าง พนักงาน ซัพพลายเออร์ หรือ นักลงทุน โดยร่วมกันกำหนดแนวความคิดและกลยุทธ์ในเรื่องของการพัฒนาความยั่งยืน ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบรับที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้,” นาย ราจ กล่าว นอกจากนี้ ผลสำรวจระบุว่า ที่ผ่านมามีบริษัทในอาเซียนเพียงร้อยละ 12 ที่มีการทำงานร่วมกันกับผู้ถือหุ้น (Stakeholders engagement) ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า พนักงาน นักลงทุน หน่วยงานภาครัฐ และ ชุมชนท้องถิ่นของตนในเรื่องการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน นายศิระ ยังกล่าวต่อว่า การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนขององค์กร (Sustainability reporting) ในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลจากการสำรวจพบว่า บริษัทในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย เกือบร้อยละ 80 มีการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สืบเนื่องมาจากข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย (Bursa Malaysia: BM) ที่กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเปิดเผยกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมลงในรายงานประจำปี อย่างไรก็ดี คุณภาพของรายงานความยั่งยืนที่พบในภูมิภาคส่วนใหญ่นั้นยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงในบางประเด็น โดยผลสำรวจพบว่า มีบริษัทในอาเซียนเพียงร้อยละ 26 ที่นำเอาแบบแผนและกรอบการรายงานความยั่งยืนที่ได้มาตรฐานสากล (Global reporting framework) มาประยุกต์ใช้กับองค์กรของตน และมีผู้บริหารแค่ร้อยละ 18 ที่รายงานความยั่งยืนของตนได้รับการตรวจรับรองจากภาคีที่สาม (Third-party Assurance) “ในส่วนของบ้านเรา จะเห็นได้ว่าภาคตลาดทุน อย่างหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ ก็ได้มีการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ตามกรอบในการจัดทำรายงานสากลของ Global Reporting Initiative (GRI) มีการจัดทำและเผยแพร่คู่มือการดำเนินงาน และคอร์สอบรมเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง อันจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้บจ.ไทย มีพัฒนาการด้าน Sustainability และประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินธุรกิจ และสร้างแรงจูงใจให้บจ.แห่งอื่นๆ ได้มีการพัฒนาศักยภาพขององค์กร เพื่อเพิ่มคุณค่าให้องค์กรได้รับความสนใจจาก Investor และสาธารณชนมากขึ้นด้วย,” นาย ศิระ กล่าว “นอกจากนี้ การผลักดันให้องค์กรธุรกิจของไทยก้าวไปสู่ดัชนีชี้วัดการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านการดำเนินงานและสิ่งแวดล้อมที่จัดทำโดยดาวน์โจนส์ หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Indexes) เพื่อเป็นอัตราอ้างอิงกับบริษัทชั้นนำอื่นๆ ในโลก ที่ไม่เพียงคำนึงถึงผลทางธุรกิจ หากยังมองครอบคลุมไปยังมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับภาคธุรกิจไทย และจะเป็นรากฐานของการทำธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ส่วนในระดับนานาชาติ เมื่อเปิด AEC ในปลายปี’58 จะช่วยเสริมสร้างจุดแข็งให้เราเป็นอย่างมาก เมื่อเวลานักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามา เขาก็จะรู้ว่าบจ.ของเรามีมาตรฐานสูงเช่นกัน,” เขา กล่าว ในท้ายนี้ ผลสำรวจ PwC ยังพบว่า ต้นทุนทางด้านพลังงานและ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอน (Energy and carbon-related costs) จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า ติดต่อ: พลอย เทน เคท เบอร์โทรศัพท์: +66 (0) 2344 1000 ต่อ 4713 อีเมลล์: ploy.ten.kate@th.pwc.com ปฐมาวดี ศรีวงษา เบอร์โทรศัพท์: +66 (0) 2344 1000 ต่อ 4714 อีเมลล์: pattamawadee.sriwongsa@th.pwc.com โสมจุฑา จันทร์เจริญ เบอร์โทรศัพท์: +66 (0) 2344 1000 ต่อ 4711 อีเมลล์: somjutha.chancharoen@th.pwc.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ