กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
ผู้รู้ฟันธง! สื่อท้องถิ่นอยู่รอด ต้องรีบปรับตัวรับยุคดิจิตอล นักสื่อสารมวลชนและนักวิชการสำรวจตัวเอง ระบุตรงกัน "สื่อ" ถ้าอยากอยู่รอดต้องรีบปรับตัว รับกระแสยุคดิจิตอล เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนการรับรู้ข่าวสารหลายช่องทางโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ใกล้อวสาน
ที่ศูนย์อาหารชั้น G Citymall สุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพานจากการสนับสนุนของ USAID จัดเวทีวิเคราะห์อนาคตสื่อท้องถิ่นในยุคดิจิตอล มีตัวแทนจากสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท และ น.ส.อังคณา พรมรักษา
อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมแสดงทัศนะ โดยมีสื่อมวลชนท้องถิ่น นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์และประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการเปิดประเด็นถามถึงสื่อในอดีต ปัจจุบัน อนาคตมีการบริหารจัดการแตกต่างกันอย่างไรและสื่อต้องมีการปรับตัวอย่างไรในยุคดิจิตอล
นายชลธิษ จันทร์สิงห์ นายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี เล่าว่าสำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ไม่มีเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับใดเป็นเจ้าของโรงพิมพ์อย่างแท้จริง ต้องไปว่าจ้างพิมพ์กับโรงพิมพ์ทั่วไป และหลายโรงพิมพ์ก็ไม่อยากรับพิมพ์ เพราะมีความยุ่งยากในขั้นตอนการพิมพ์มากกว่างานพิมพ์อื่น รวมทั้งได้รับค่าจ้างพิมพ์ล่าช้ากว่างานทั่วไป "เจ้าของหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่น จึงทำด้วยใจรักจริงๆ บางหนังสือพิมพ์เป็นทั้งบรรณาธิการ ไปถึงคนส่งหนังสือพิมพ์ และถ้าหวังจะมีรายได้หรือร่ำรวยจากอาชีพนี้คงไม่ได้"
สำหรับการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคข่าวสารรวดเร็ว ต้องเริ่มต้นจากการจัดทำรูปแบบให้น่าจับขึ้นมาอ่าน เนื้อหาข่าวต้องมีความโดดเด่น เจ้าของต้องจัดอาร์ต ทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการจัดพิมพ์เป็น จึงสามารถอยู่รอดได้ในยุคนี้
ส่วนนายนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไทให้ความเห็นในประเด็นเดียวกันว่า "สื่อท้องถิ่นแตกต่างจากสื่อสวนกลางในเรื่องทุน ซึ่งสื่อส่วนกลางมีมากกว่าสื่อท้องถิ่น แต่ในยุคดิจิตอลสื่อส่วนกลางต้องปรับตัวมากขึ้น เพื่อให้อยู่รอดเช่นเดียวกัน ขณะที่ต้นทุนระหว่างสื่อส่วนกลางกับสื่อท้องถิ่นไม่มีความแตกต่างกัน คือสื่อสิ่งพิมพ์ต้นทุนการผลิตมากกว่าราคาขาย ด้วยโครงสร้างนี้ สื่อต่างๆจึงอยู่ไม่ได้จากยอดขาย ต้องอาศัยสปอนเซอร์ จึงทำให้สื่อเป็นอิสระยาก บางครั้งสินค้าบางอย่างมีปัญหา ก็ต้องบอกว่าดี เพื่อให้ได้โฆษณา และอำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่กับคนทำสื่อ แต่อยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ต้องบอกว่าไม่มีอนาคต เพราะคนไม่เสพข่าวจากการอ่านหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว แต่เลือกเสพข่าวจากหลายสื่อ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นิยมดูจากสื่อออนไลน์คลิป ฟังหรืออ่านผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งรวดเร็วเข้าถึงได้มากกว่าสื่ออื่น”
ขณะที่ น.ส.อังคณา พรมรักษา อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความเห็นว่า สื่อท้องถิ่นอุบลราชธานี มีความเข้มแข็ง เพราะมีการจับมือทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย และคนทำงานสื่อมาจากความรัก ความชอบ เห็นได้จากคนในอดีตไม่ได้เรียนจบมาทางนิเทศศาสตร์ เพราะมีคนทำสื่อก่อนที่จะมีหลักสูตรวิชานี้ขึ้นมาสอน
สำหรับสื่อท้องถิ่นปัจจุบันต้องบอกว่า "อยู่ด้วยใจ ไม่ได้คิดถึงเรื่องขาดทุนหรือกำไร เพราะหัวใจคนทำสื่อคือ ต้องการให้คนดู คนอ่าน คนฟัง" ก็ดีใจ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว อนาคตของสื่อท้องถิ่นที่เป็นหนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวเอง โดยคิดไปรวมกับการทำสื่ออื่นอย่างไร เพราะการทำสื่อสิงพิมพ์เป็นสื่อที่มีต้นทุนสูง ประกอบกับคนรุ่นใหม่นิยมรับสื่อที่รวดเร็ว สะดวกในการติดตามได้ทุกที่ดังนั้นสื่อท้องถิ่นที่อดีตเคยต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ ต้องมีการพูดคุยจะร่วมกันอย่างไรให้อยู่รอดในยุคที่โลกการสื่อสารเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
"แต่สื่อท้องถิ่นยังมีจุดแข็งคือ เป็นสื่อที่เข้าถึงคนในชุมชนที่ตนอยู่ บางเรื่องบางประเด็นสื่อส่วนกลางไม่ให้ความสนใจ แต่สื่อท้องถิ่นสามารถนำมาเป็นประเด็นนำเสนอได้" จึงเป็นจุดแข็งและเป็นจุดขายที่ต่างกับสื่อส่วนกลาง
ด้านนายสมศักดิ์ รัฐเสรี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปทุมมาลัย ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นแสดงความเห็นว่า สื่อสิ่งพิมพ์ในจังหวัดมีมากเชิงปริมาณ แต่ที่ทำในเชิงคุณภาพมีน้อย เคยคิดจะชวนเพื่อนๆทำสื่อท้องถิ่นให้เหมือนสื่อส่วนกลางคือ ผลัดกันออกฉบับละวันให้เป็นเหมือนสื่อรายวัน แต่ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะใช้ต้นทุนสูงและมีจุดอ่อนด้านการตลาด
สำหรับเทปการวิเคราะห์อนาคตสื่อท้องถิ่นในยุคดิจิตอลสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิ้ลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่องของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM. 102.75Mhz Cleanradio 92.5 Mhz
ติดต่อ:
สุชัย เจริญมุขยนันท suchaiubon@gmail.com