กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ความพร้อมรับมือระบบไอทีในการบริหารจัดการกิจการในยุคปัจจุบัน ดันโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) ซึ่งถือเป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs ไทย ให้ได้รับการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันก่อนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวในปี 2558 โดยส่งเสริมให้ SMEs ใช้ระบบไอทีและโซเชียล มีเดีย สื่อออนไลน์ยุคใหม่เข้าถึงผู้บริโภคได้ทันใจในธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินกิจกรรมด้านไอที 4 ด้านคือ 1. มุ่งเน้นที่ซอฟต์แวร์การบริหารงานครบวงจรและซอฟต์แวร์เฉพาะด้านผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยี Cloud Computing รวมถึงการส่งเสริมให้ใช้ Mobile Application ที่ใช้งานง่าย 2. การพัฒนาบุคลากร SMEs ด้านไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 3. การพัฒนาระบบ e-Marketplace เพื่อสร้างร้านค้าออนไลน์ให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วย e-Supply Chain เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลิตภาพของกิจการ 4. ส่งเสริม SMEs โดยใช้ Green IT ด้วยระบบ Dead Stock Management เพื่อลดต้นทุนในการเก็บสต็อกสินค้าและเพิ่มมูลค่าของสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น โดยในปี 2556 กสอ. คาด SMEs มีแนวโน้มให้ความสนใจในเรื่องของการบริหารกิจการด้วยระบบไอทีเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 20พร้อมกันนี้ ได้จัดสัมมนารองรับ SMEs ที่มีแนวโน้มของการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ภายใต้หัวข้อ “ECIT : SMEs Solutions Day 2013” มิติใหม่แห่งการใช้ IT เพื่อขับเคลื่อน SMEs ไทยสู่ระดับสากล
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริการสารสนเทศ สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 หมายเลขโทรศัพท์ 02-354-9078 หรือ www.ecitthai.net
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที ถือเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะกับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)เนื่องจากไอทีนั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการบริหารจัดการ ตลอดจนสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจอยู่รอดและมีผลกำไรมากขึ้นได้
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นับวันไอทียิ่งทวีความสำคัญและมีความจำเป็นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของโซเชียลมีเดีย ที่ในปัจจุบันกำลังเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูง เพราะเป็นสื่อที่คนทั้งโลกสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นทุนของสื่อเดิม ทำให้แนวโน้มในการพัฒนาสินค้าและบริการของ SMEs สามารถเพิ่มสูงขึ้นได้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการส่งเสริมพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำไอทีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของ SMEs มากขึ้น จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Enhancing SMEs Competitiveness Through IT: ECIT) หรือโครงการอีซี่ไอทีขึ้น
นายโสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการอีซี่ไอทีเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยระบบไอทีของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยเป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs ให้ได้รับการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมให้ SMEs ใช้ระบบไอทีในธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แนวทาง ดังนี้
1. มุ่งเน้นซอฟต์แวร์การบริหารงานครบวงจรและซอฟต์แวร์เฉพาะด้านผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยี Cloud Computing รวมถึงการส่งเสริมให้ใช้ Mobile Application ที่ใช้งานง่ายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลิตภาพของกิจการ
2. การพัฒนาบุคลากร SMEs ด้านไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานผ่านหลักสูตรการอบรมอย่าง การสร้างโอกาสธุรกิจด้วย CRM และ KM การใช้ Social Network เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยกำหนดเป้าหมายอบรม 1,500 รายทั่วประเทศ
3. ส่งเสริมระบบ e-Marketplace และ e-Supply Chain เพื่อสร้างร้านค้าออนไลน์ให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการรวมกันของกลุ่มประเทศอาเซียนจะยิ่งทำให้โอกาสค้าขายทางออนไลน์เปิดกว้างมากขึ้น และขยายโอกาสเข้าสู่คนมากกว่า 600ล้านคน ซึ่งช่องทางออนไลน์ รวมถึงโซเชียล มีเดีย ถือเป็นช่องทางเดียวที่มีศักยภาพ สามารถลดต้นทุน และเพิ่มยอดขายได้ในเวลาเดียวกัน
4. ส่งเสริม SMEs โดยใช้ Green IT ด้วยระบบ Dead Stock Management เพื่อลดต้นทุนในการเก็บสต็อกสินค้าและเพิ่มมูลค่าของสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น
ซึ่งแนวทางดังกล่าว จะสามารถทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันต่อไปได้ เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยทั้งหมดนี้มุ่งเป้าไปที่การยกระดับ SMEs ไทยสู่ระดับสากลบนพื้นฐานของการทำงานด้วยระบบไอที ซึ่ง กสอ. ได้ริเริ่มและผลักดันให้มีกิจกรรมการให้ความรู้ด้านไอทีแก่ SMEs และผู้ที่สนใจทั่วไปได้ภายใต้โครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการส่วนบริการสารสนเทศ สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเติบโตของของเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทต่อกระแสสังคมในปัจจุบัน ซึ่งผู้บริโภคทั้งหลายเริ่มปรับตัว และสามารถเปลี่ยนเข้ามาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้ ซึ่งมีบทบาททั้งต่อความคิด การตัดสินใจ และเกิดเป็นกระแสในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEsไม่ควรมองข้าม เพราะ ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของประชากรในโซเชียล มีเดียนั้นกระโดดตัวสูง ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนไทยกว่า 13 ล้านคนใช้Facebook นอกจากนี้ยังมีการใช้งานผ่าน YouTube โดยเฉลี่ยวันละกว่า 5 ครั้ง และตัวเลขผู้ใช้ Twitter ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงช่องทางใหม่อย่างอินสตาแกรมที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 50% ต้องมีแอพพลิเคชั่นนี้ ซึ่งทุกช่องทางมีแนวโน้มเติบโตแบบ
ก้าวกระโดดแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ คือการนำโซเชียล มีเดียเหล่านั้นมาบูรณาการและนำไปบริหารจัดการควบคู่กับเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆและพัฒนาสินค้าบริการของธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น เพราะการสื่อสารผ่านโซเชียล มีเดีย ถือเป็นการสื่อสารอันทรงอิทธิพล เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้รับสารมีการโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์ และเมื่อมีการโต้ตอบกันไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความสัมพันธ์ที่คุ้นเคยระหว่างกัน ซึ่งทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถนำมาใช้ในการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management)ได้ และที่สำคัญมีต้นทุนไม่สูงนักช่องทางโซเชียล มีเดียจึงเป็นช่องทางสำคัญที่ SMEsสามารถใช้สร้างความคุ้นเคยกับตราสินค้า ให้ผู้บริโภคได้จดจำ รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง พูดคุยกันได้ ทำให้เราทราบความคิดเห็นของผู้บริโภค แต่จุดอ่อนของมันคือ สามารถสร้างความรู้สึกอึดอัดหรือสร้างความรำคาญให้ผู้บริโภคได้โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวดังนั้น ต้องเน้นการสร้างความน่าสนใจ ความชัดเจน ตรงประเด็น และการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมสนองตอบและติดตามพฤติกรรมการสื่อสารของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
นายวาที กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมี SMEs ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2552 — 2555 เป็นจำนวนมากถึง 360 กิจการ ในหลายหลายอุตสาหกรรมทั้ง ภาคการค้า ภาคการผลิต ภาคการบริการ ที่มีการใช้ระบบไอทีเป็นเครื่องมือในการบริหารงานและพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ทั้งในเรื่องของการวางแผนการผลิต การสต๊อกวัตถุดิบการติดตามการส่งของตามคำสั่งซื้อ ตลอดจนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ ซึ่งส่งผลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถลดต้นทุนและเพิ่มกำไรโดยรวมได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ต่อปี โดยคาดว่าในปี 2556 นี้ จะมี SMEs ที่ให้ความสนใจในเรื่องของการบริหารกิจการด้วยระบบไอทีเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 20เพราะเนื่องจากผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยโซเชียล มีเดียมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มของกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะมีการใช้โซเชียล มีเดียมากขึ้นน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มบริการขนส่ง เป็นต้น ซึ่ง กสอ. ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะรองรับ SMEs ที่มีแนวโน้มของการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ผ่านกิจกรรมด้านไอทีที่เป็นประโยชน์ อาทิ โครงการอบรมโซเชียล มีเดีย สำหรับธุรกิจ SMEs กิจกรรมสัมมนา “ECIT : SMEs Solutions Day 2013” มิติใหม่แห่งการใช้ IT เพื่อขับเคลื่อน SMEs ไทยสู่ระดับสากล พร้อมกิจกรรมการบรรยายพิเศษ อาทิ แอพพลิเคชั่น SMEs กลยุทธ์สร้างกระแสสินค้าและบริการผ่านอินสตาแกรม เป็นต้น
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริการสารสนเทศ สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 หมายเลขโทรศัพท์ 02-354-9078 หรือ www.ecitthai.net