กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) ณ กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) ณ กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ซึ่งมีนาย Nazmi Mohamad ปลัดกระทรวงการคลังบรูไน และนาย Xiaosong Zheng ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานร่วม และมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศ+3 (สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อพิจารณาการดำเนินงานมาตรการริเริ่มต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 พร้อมทั้งหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ซึ่งมีประเด็นหลักสรุปได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมเห็นชอบให้ยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศโดยเร็ว โดยให้มีสถานะความสำคัญ และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเทียมกับองค์การระหว่างประเทศทางการเงินอื่นๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ทั้งนี้ AMRO จะเป็นองค์การการเงินระหว่างประเทศองค์การแรกที่จัดตั้งโดยอาเซียน+3 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างบทบาทของ AMRO ในการวิเคราะห์สถานการณ์และระวังภัยทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน+3 ในเวทีโลก
2. ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าการแก้ไขความตกลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่กำหนดให้ (1) เพิ่มขนาดของ CMIM เป็น 2 เท่า จากเดิม 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2) เพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Delinked
Portion) เพื่อลดการพึ่งพา IMF ในยามวิกฤต และ (3) การจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis Prevention Facility) เพื่อป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นและป้องกันการลุกลามไปยังของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าการดำเนินการแก้ไขความตกลงฯ จะแล้วเสร็จภายในช่วงกลางปี 2556
3. ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค โดยมีความคืบหน้าหลัก ได้แก่
(1) กลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ได้เริ่มอนุมัติค้ำประกันเครดิตการออกตราสารหนี้ให้แก่บริษัทเอกชนของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 เป็นรายแรกแล้ว โดยคาดว่าบริษัทดังกล่าวจะออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย มีมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 3000 ล้านบาท) ได้ภายในเดือนเมษายนนี้
(2) การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการประสานกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติ และการยอมรับกฎเกณฑ์ร่วมกัน (Mutual Recognition) ของการออกพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถออกตราสารหนี้ระหว่างกันได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้ง การหาแนวทางการลดต้นทุนในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับตราสารหนี้ข้ามพรมแดน
(3) โครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (Technical Assistance: TA) แก่ประเทศสมาชิกในการพัฒนาตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เพื่อให้ประเทศเหล่านี้สามารถพัฒนาตลาดพันธบัตรของตนเพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนและเป็นช่องทางในการออมในอนาคต
(4) ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการพัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Fostering Infrastructure Financing Bonds Development) ที่นำเสนอโดยกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 โดยคาดว่าจะนำเสนอข้อเสนอดังกล่าวให้ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 พิจารณาให้ความเห็นชอบได้ในเดือนพฤษภาคม 2556
4. ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาความร่วมมือใหม่ 3 เรื่องของอาเซียน+3 ได้แก่ (1) ความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค (2) การใช้เงินสกุลท้องถิ่นของภูมิภาคสำหรับการค้าขายในภูมิภาค และ (3) การจัดตั้งกลไก/กองทุนการประกันภัยที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปนโยบายความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวได้ภายในปีนี้
5. นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ร่วมกับผู้แทนจาก AMRO ADB และ IMF โดยคาดว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปี 2556 นี้จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก โดยเฉพาะการ
ขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นของจีน อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 ยังจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน อันเกิดขึ้นจากการที่ประเทศพัฒนาแล้วที่ประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ดำเนินการใช้นโยบายการเงินในลักษณะที่เป็นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นประเทศสมาชิกควรใช้ประโยชน์จากการที่มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคมาก ด้วยการใช้เงินทุนมาสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาด้านการศึกษาของแต่ละประเทศสมาชิก
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3312