กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting : AFMM) ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 3 — 4 เมษายน 2556 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม โดยมีนาย PehinDatoAbdRahman Ibrahim รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 ของประเทศบรูไนดารุสซาลาม เป็นประธาน ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตลอดช่วงปีที่ผ่านมาและหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและผลต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเด็นหลักที่สำคัญ ดังนี้
1. เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน มีการเติบโตที่แข็งแกร่งและขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2555 ที่มีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและในภูมิภาคเสถียรภาพในภาคการธนาคารและภาคธุรกิจ และพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2556 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.3-6.0อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังจะเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญโดยเฉพาะจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและความอ่อนแอของอุปสงค์ภายนอกภูมิภาคซึ่งส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องดำเนินนโยบายการคลังและการเงินให้เหมาะสมเพื่อรักษาอัตราการเจริญเติบโตและความมีเสถียรภาพการเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งก่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคาและระบบการเงิน ความยั่งยืนทางการคลัง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) รวมถึงการยกระดับความร่วมมือและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีความแข็งแกร่งและสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน
ในการนี้ นายกิตติรัตน์ฯ ได้กล่าวถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังจากภาวะน้ำท่วมในปลายปี2554 ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเจริญเติบโตที่ร้อยละ 6.4 ในปี 2555 ทั้งๆ ที่ได้รับผลกระทบของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทำให้เป็นปีแรกที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศ ในช่วงของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้เศรษฐกิจไทยมีความสมดุลและสามารถเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ผ่านการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน พร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานในภาคการผลิตและขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและรักษาความยั่งยืนของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย
2. แผนการรวมตัวด้านนโยบายและระบบการเงินอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN) ซึ่งช่วยสนับสนุนการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมภายใต้แผนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีความคืบหน้าหลักใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการพัฒนาตลาดทุน ได้มีการเริ่มดำเนินการเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์(ASEAN Trading Link) ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และมีการประสานมาตรฐานกฎระเบียบเกี่ยวกับการเสนอขายกองทุนรวมและหลักทรัพย์ข้ามประเทศรวมทั้งการพัฒนาระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์เพื่อส่งเสริมให้มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น สำหรับในด้านตลาดพันธบัตร ได้มีการจัดทำตัวชี้วัดระดับการพัฒนาตลาดพันธบัตรของสมาชิกอาเซียน รวมถึงศึกษาแนวทางการพัฒนาตลาดรองของตราสารอนุพันธ์ (2) ด้านการเปิดเสรีบริการด้านการเงิน มีความคืบหน้าในการเจรจาเปิดเสรีบริการด้านการเงินรอบที่ 6 โดยคาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จภายในปี2556 และจะมีการลงนามในพิธีสารที่เกี่ยวข้องในปี2557(3) ด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน มีความคืบหน้าในการจัดทำกรอบการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยไทยได้เป็นแกนนำในการจัดทำแผนภูมิสัญญาณชี้วัดระดับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุน เพื่อให้แต่ละสมาชิกนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเป็นลำดับขั้นตอนตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจภายหลังการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุนในการนี้ นายกิตติรัตน์ฯได้กล่าวสนับสนุนแผนพัฒนาตลาดทุนของอาเซียน โดยเสนอแนะให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อเป็นช่องทางระดมทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มประเทศที่ไม่มีอันดับเครดิต โดยการพิจารณากลไกสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกดังกล่าวสามารถออกพันธบัตรในสกุลเงินบางสกุลของประเทศสมาชิก และมีกลไกการสนับสนุนด้านอุปสงค์ของการระดมทุนและสภาพคล่องในตลาดรองของพันธบัตรดังกล่าว
3. ความร่วมมือด้านการเงินและรวมตัวทางเศรษฐกิจ มีความคืบหน้าหลักๆ ดังนี้ (1) ด้านการพัฒนาระบบระวังภัยและระบบติดตามความคืบหน้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งสำนักงานติดตามการรวมตัวของอาเซียนได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ติดตามและประเมินความคืบหน้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และมีแนวทางการประสานการดำเนินงานกับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 เพื่อนำเสนอรายงานเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่ออาเซียน(2) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) ขึ้นเรียบร้อยแล้วในปี 2555 โดยในระยะเริ่มต้น มีโครงการที่ให้ความสนใจที่จะเข้ารับเงินลงทุนของกองทุนฯ จากประเทศสมาชิกหลายประเทศจำนวนรวม 8 โครงการ มูลค่ากว่า 370ล้านเหรียญสหรัฐและคาดว่ากองทุนฯ จะสามารถเริ่มให้การสนับสนุนได้จำนวนหนึ่งภายในปี 2556 (3) ความร่วมมือด้านศุลกากร มีการจัดทำโครงการนำร่องการใช้ระบบพิธีการศุลกากรอาเซียน ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ระหว่างสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อม 7 ประเทศ และการนำพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาโมไนซ์ของอาเซียน (ASEAN Harmonized Tariff Nomenclature) มาใช้ในปี 2555 (4) ความร่วมมือด้านภาษีอากร มีการประสานนโยบายในด้านภาษีระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ภาษีหัก ณ ที่จ่ายและการจัดทำความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการระบบภาษี เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมความมีประสิทธิภาพของตลาดทุนในภูมิภาค(5) ด้านประกันภัย มีความร่วมมือเพื่อพัฒนากฎระเบียบและแนวทางการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการประกันภัย รวมถึงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีมาตรการริเริ่มใหม่เกี่ยวกับการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดหาแหล่งเงินทุนและการประกันภัยในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ (6) ด้านการเงินภาคประชาชน ในการประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบมาตรการริเริ่มใหม่เกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ก่อนจะนำไปปรับใช้เป็นนโยบายภายในประเทศต่อไป
4. ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน+3 ได้มีความคืบหน้าในด้าน (1) การพิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)โดยขยายขนาดของ CMIM เป็น 2 เท่า จากเดิม 120พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Delinked Portion) และการจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis Prevention Facility) ซึ่งจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือให้กับกลไกให้ความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น และการลุกลามไปยังของประเทศสมาชิกอื่นและของภูมิภาค(2) การพิจารณาแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Monitoring Office: AMRO)โดยเร่งรัดการยกระดับ AMRO ให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศโดยเร็วเพื่อให้มีสถานะ ความสำคัญ และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆใกล้เคียงกับองค์กรระหว่างประเทศทางการเงินอื่นๆ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาคมโลกว่าอาเซียนมีกลไกที่แข็งแกร่งและเพียงพอในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาดุลการชำระเงิน(3) กลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guaranteeand Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3ได้เริ่มอนุมัติค้ำประกันเครดิตการออกตราสารหนี้ให้แก่บริษัทเอกชนของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 เป็นรายแรกแล้ว โดยคาดว่าบริษัทดังกล่าวจะออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย มีมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 3000 ล้านบาท) ได้ภายในเดือนเมษายนนี้
5. ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการจัดประชุม AFMM ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่นักลงทุนในไทยมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นในการเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ของมาเลเซียและสิงคโปร์จากการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ของ 3 ประเทศเข้าด้วยกันแล้วตลาดหลักทรัพย์ไทยก็จะมีการเติบโตขึ้นจากการลงทุนของนักลงทุนในอาเซียนที่จะมาลงทุนในหลักทรัพย์ไทย การตกลงประสานมาตรฐานกฎระเบียบเพื่อให้หลักทรัพย์และกองทุนที่ได้รับอนุญาตให้ออกจำหน่ายได้สามารถเสนอขายแก่นักลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้ง่ายขึ้น จะอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางในด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจไทยกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน ก็จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเชื่อมต่อกับไทยทั้งทางด้านพลังงานและโทรคมนาคมเพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและเพื่อให้เกิดภาพที่สมบูรณ์ของการเชื่อมโยงระบบคมนาคมในภูมิภาค นอกจากนี้ การเชื่อมโยงเครือข่าย ATM ในอาเซียนจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนของไทยและอาเซียนในการใช้ ATM ในประเทศสมาชิกอื่นๆการเพิ่มวงเงินของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี และการยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน+3 จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศไทยและภูมิภาคในการมีความพร้อมรองรับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ
6. การประชุม AFMM ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ประเทศพม่าในช่วงต้นเดือนเมษายน 2557
สำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3660