กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จัดงานนิทรรศการ Advertising Workshop Showcase ณ ห้องเดอะแคมปัส โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ เวลา 11.00 - 15.30 วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นการนำเสนอแผนงานสื่อสารการตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาด และการโฆษณาในสถานการณ์จริง
ในปีนี้นำเสนอภายใต้คอนเซป “The Urban Neighbors” เป็นการจำลองรูปแบบการทำงานในวงการโฆษณาแบบ Pitching หรือการนำเสนองานแก่ลูกค้า โดยมีเพื่อนบ้านชาวกรุงผู้สนับสนุนการนำเสนอผลงาน ได้แก่ ชาพร้อมดื่ม ลิปตัน ไอซ์ทีผลิตภัณฑ์ ซีพี อีซี่ สแน็คส์ และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากบริษัทโฆษณาชื่อดังร่วมให้เกียรติเป็นกรรมการตัดสินและคัดเลือกทีมที่ดีที่สุดในการนำเสนอผลงาน
ทีมที่ชนะสำหรับผลิตภัณฑ์ซีพี อีซี่ สแน็คส์ ได้แก่ “ทีมไหน้ำผึ้ง” ภายใต้คอนเซปต์ “ค(ร)บง่าย ไม่ไร้สาระ” ผลิตภัณฑ์ชาพร้อมดื่มลิปตัน ไอซ์ที ทีมที่ชนะได้แก่ “ทีมต่อไป” ภายใต้คอนเซปต์ “ตามล่าหาจี๊ด” และ “ทีมชามะนาว” ภายใต้คอนเซปต์ “ใช้ชีวิตให้เปรี้ยว” และผลิตภัณฑ์ ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ทีมที่ชนะ ได้แก่ “ทีม A SHOT” ภายใต้คอนเซปต์ “เหนื่อย สุข สนุก ฮา ช่วงเวลายาโยอิ”
อาจารย์ ขวัญตาศิริวัจนางกูร หัวหน้าภาควิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า งานแสดงผลงาน Advertising Workshop จัดทุกปี แต่ที่พิเศษคืองานในปีนี้ที่เปลี่ยนรูปแบบการจัดจาก Advertising Workshop Exhibition มาเป็น Advertising Workshop Showcase ซึ่งเป็นรูปแบบการ pitching เด็กๆทุกคนต้องนำเสนองานของกลุ่มตนเองกับลูกค้า
นายศุภโชค สัมภารัตน์ ประธานการจัดงาน กล่าวว่า งานในครั้งนี้เป็นการแสดงผลงานของนักศึกษาในการแก้ไขปัญหาของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าหาข้อมูล และนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้กับสิ่งที่ได้รับจากการศึกษาในสี่ปีที่ผ่านมา โดยที่นักศึกษานั้นเปรียบเสมือนเอเจนซี่โฆษณาของแต่ละผลิตภัณฑ์
“สิ่งที่ผมได้รับจากการทำงานคือ การทำงานเป็นทีม ผมได้รู้ว่ามันมีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คนที่จะมาทำงาน ผมคิดว่าเราต้องดูคนให้ออกก่อนว่าคนนั้นมีความสามารถอะไรบ้าง ถึงจะจับเขาให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกกับงานได้ งานถึงจะประสบความสำเร็จ ประสบการณ์ที่ผมได้รับ คือ รู้วิธีจัดสรรคนในการทำงาน รู้ขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบงาน หรือ แผนกต่างๆ ว่าแผนกไหนต้องทำอะไรบ้าง และทำอย่างไร ”
นายศุภโชคยังกล่าวต่ออีกว่า งานในครั้งนี้เปรียบเสมือนการฝึกงานของนักศึกษา ที่สร้างประสบการณ์ในการทำงานทางด้านสื่อ และการสื่อสาร ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานในอนาคตได้
“ ผมได้รับโจทย์ให้เปลี่ยนทัศนคติของลูกค้ายาโยอิ ว่ายาโยอิไม่ใช่อาหารที่ผ่านกระบวนการอุ่นจากไมโครเวฟ เนื่องจากทางร้านต้องการมีจุดเด่นในเรื่องของความเร็ว ซึ่งเป็นที่มาของสโลแกน เสิร์ฟร้อน อร่อยเร็ว โดยที่ผมต้องค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความคิดของผู้บริโภคที่มีต่อ ยาโยอิ และ คู่แข่งรายอื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของแคมเปญในการนำเสนองานครั้งนี้ ” นายศุภโชคกล่าว
สำหรับทีมที่ชนะ นายธีรวิทย์ เลิศศิริมงคลกุล ตัวแทนจากกลุ่ม "ไหน้ำผึ้ง" พูดถึงที่มาของคอนเซปต์ว่า จริงๆแล้วสินค้า CP Easy Snack มีอยู่ตั้งนานแล้ว แค่ยังไม่ได้จัดหมวดหมู่ชัดเจน ดังนั้นซีพีเลยต้องการที่จะสร้าง Category ใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น เราเลยต้องการทำให้สินค้าCategory นี้เป็นเหมือนเพื่อน เพราะกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มนักศึกษา โดยการสร้างบุคลิกภาพตราสินค้า (Brand Personality) ให้กับสินค้าตัวนี้ เป็นคาแลคเตอร์ขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงตัวผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้า เพื่อให้เค้ารู้สึกผูกพันกับสินค้ามากขึ้น แล้วเพื่อนแบบไหนที่สามารถดึงดูดให้คนเหล่านี้มาซื้อได้ เราเลยสร้างคำว่า "ค(ร)บง่าย ไม่ไร้สาระ" ขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นทั้งเพื่อนที่(คบ) และผลิตภัณฑ์ที่(ครบ) โดยนางสาว พิชยา ชัยชนะ ตัวแทนกลุ่ม "ไหน้ำผึ้ง" กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า "ก็จริงๆแล้วก็ดีใจมากค่ะ เพราะพวกเราทำงานกันหนักมาก พวกเราทำงานกันเป็นทีม สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนก็มีความถนัดต่างกันไป แล้วแต่ละคนก็ช่วยในเรื่องที่ตัวเองช่วยได้ เวลาตัดสินใจจะทำอะไรพวกเราจะช่วยกันคิดด้วยกันตลอด บางครั้งก็มีถกเถียงกันบ้าง เพราะอาจจะความเห็นไม่ตรงกัน แต่นั่นก็เพราะพวกเรามีเป้าหมายเดียวกัน ก็เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด"
นางสาว ฐิตาพร เรืองสมัย ตัวแทนจาก “ทีมต่อไป” พูดถึงที่มาของคอนเซปต์ว่า “จากผลการทำการวิจัยผู้บริโภคพบว่าบุคลิกภาพของตราสินค้าลิปตันเด่นในด้านการทำกิจกรรมนอกบ้าน (Outdoorsy) แต่บุคลิกภาพของผู้บริโภคมีอีกสองด้าน คือ ช่างจินตนาการ (Imaginative) และมีความทันสมัย (Up-to-date) เราเลยคิดแคมเปญ “ตามล่าหาจี๊ด” เพื่อส่งเสริมให้ตราสินค้ามีบุคลิกภาพสามด้านดังกล่าว โดยสร้างแคมแปญเน้นไปที่การส่งเสริมการตลาด (promotion) และ การใช้สื่อออนไลน์ เป็นสื่อหลัก นางสาว พิญญาเนศวร์ เติมวิวัฒน์ หัวหน้า “ทีมต่อไป” กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า “ดีใจมากค่ะ ก็คุ้มกับทุกอย่างที่เราได้เสียไปด้วยกัน จริงๆคืออยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ปีหนึ่งแล้ว ก็ประทับใจที่ทุกคนยอมเสียสละเวลา เสียสละทุกอย่างมาทำงานตรงนี้ด้วยกัน ขอบคุณทุกคนค่ะ”
นางสาวมานิดา แจ้งมาก ตัวแทนจาก “ทีมชามะนาว" พูดถึงคอนเซปต์ว่า “จากการทำการวิจัยผู้บริโภค พบว่าแรงจูงใจในการบริโภคชาพร้อมดื่มของผู้บริโภคนั้นมาจากบุคลิกภาพของตราสินค้าลิปตันที่ชัดเจนซึ่งลิปตันมีความเด่นชัดเรื่องความสนุกสนานและร่าเริง เราจึงเพิ่มเติมไลฟ์สไตล์ที่ตื่นเต้นแปลกใหม่เพื่อสร้างความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของแคมเปญ “Lemonize your life “ (ใช้ชีวิตให้เปรี้ยว) เปรียบเสมือนว่าลิปตัน เป็นเพื่อนที่ช่วยสร้างความสนุกจากช่วงเวลาที่แสนน่าเบื่อเพื่อสร้างประสบการณ์ของตราสินค้า (Brand Experience) เเละการมีส่วนร่วม (Brand Involvement) เพื่อเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค” นางสาวมนิดายังกล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้รับรางวัลอีกว่า "ดีใจค่ะถือว่าเป็นระยะเวลาหนึ่งปีที่คุ้มค่ามากค่ะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเรียนรู้การแก้ปัญหาและการทำงานเป็นทีมการช่วยเหลือเพื่อบรรลุเป้าหมายถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากทีเดียวค่ะ”
นายนฤดล นฤนรเศรษฐ หัวหน้า “ทีม A Shot” อธิบายรายละเอียดว่า ถ้าถามเกี่ยวกับที่มาของคอนเซปต์ในการทำแคมเปญโฆษณาให้ร้านอาหารญี่ปุ่น Yayoi ก็ได้มาจากผลการทำการวิจัยจากผู้บริโภคที่รู้จักกับร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิดีอยู่แล้วมีการจดจำตราสินค้าได้อย่างแม่นยำและทางด้านบุคลิกภาพของตราสินค้าก็ส่งเสริมความเป็นตัวยาโยอิดีอยู่แล้ว แต่ที่เราค้นพบจากการวิจัยคือทางผู้บริโภคส่วนใหญ่มองไม่เห็นเหตุผลที่อยากจะมาทานหรือมาใช้บริการร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิบ่อยๆ เนื่องจากยังติดกับภาพลักษณ์เดิมๆ ของยาโยอิที่ดูสีสันสดใสและเหมือนเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่ทางยาโยอิก็ได้ปรับปรุงร้านและเปลี่ยนแปลงให้มีความเป็นผู้ใหญ่ ทางยาโยอิพยายามจะจับกลุ่มเป้าหมายไปที่วัยทำงานและกลุ่มเป้าหมายของยาโยอิส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีการตอบรับตรงนั้นทางกลุ่มของพวกเราได้เห็นถึงปัญหาโดยการทำวิจัยลึกไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคและความคิดของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกระแสในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีออนไลน์ทางโทรศัพท์มือถือ มาทำเป็นแคมเปญที่สามารถเข้าถึงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ภายใต้คอนเซปต์ "เหนื่อยสุขสนุกฮาช่วงเวลายาโยอิ" ทางกลุ่มยังได้แอบแฝงเสียงจำ "มายาโยอิสิ" ให้คงความเป็นยาโยอิที่ดีอยู่แล้วสืบต่อไป” นายนฤดลยังกล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้รับรางวัลอีกว่า "ดีใจมากๆ และถือว่าการได้ทำงานแบบนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ไม่ได้หาได้ง่าย พวกผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างเช่นการแก้ปัญหาจากใหญ่ไปน้อยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าการสื่อสารแบบผิดๆและการเข้าใจผิดกันแต่สุดท้ายพวกเราก็ผ่านมาได้ก็ขอบคุณทุกคนที่คอยช่วยเหลือกันมาตลอดขอบคุณจริงๆครับ"
คุณอนรรฆวี ชูรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้สนับสนุนจากซีพีกล่าวว่า “ค่อนข้างประทับใจมาก เพราะการนำเสนอเนี่ย มันมีขั้นตอนในการทำเหมือนแผนการตลาดจริงๆ นะคะ ก็เริ่มตั้งแต่การเข้าใจผู้บริโภคโดยการหาข้อมูลเท่าที่ดูเนี่ยก็รู้สึกว่าหลายๆ กลุ่ม ให้ความสนใจกับตรงนั้นจริงๆ ก็คิดว่าได้ประโยชน์มาก เพราะจริงๆการทำการตลาดเนี่ย มันต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นฐาน นอกจากนั้น ยังมาถึง ขั้นตอนในการสื่อสารซึ่ง หลายๆกลุ่มก็ทำได้ดีมากจริงๆ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเรื่องแคมเปญก็น่าสนใจทั้งนั้น อาจต้องมีพัฒนาบ้างในบางกลุ่ม แต่เท่าที่ดูโดยพื้นฐานในการใช้หลักการวิเคราะห์ถือว่าดีมาก แต่ว่า อยู่ที่ว่า พอออกมาเป็น แคมเปญจริง ๆ ความน่าสนใจก็อาจจะไม่ค่อยเท่ากันเท่าไหร่”
คุณลัดดาวรรณ เลิศวศิน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ชาพร้อมดื่ม ลิปตันไอซ์ที กล่าวว่า “ถือว่าเด็กๆสมัยนี้เก่งมากนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองาน ในแง่ของกลยุทธ์หรือในแง่ของการโฆษณา แล้วก็มีไอเดียใหม่ๆ สนุกมาก คิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมากค่ะ”
คุณธีร์ ธีระโกเมน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ กล่าวว่า “ผมขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญครับ ที่จัดให้มีงานแสดงผลงานของนักศึกษาครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นไอเดียใหม่ๆ ของน้องๆ ที่มีทั้งความสร้างสรรค์ และความตั้งใจแล้วก็ความแปลกใหม่ด้วย เป็นการฝึกหัดที่ดีสำหรับน้องๆ ให้พร้อมเข้าไปสู่โลกแห่งความจริงครับ พอได้เห็นงานทุกคนวันนี้มันมีแรงบันดาลใจ พอออกไปทำงานแล้วก็ไม่อยากให้อยู่ในกรอบ อยากให้ทุกคนมีความตื่นตัวหาอะไรแปลกๆใหม่ๆ หาความรู้ให้ตัวเองเสมอ แล้วก็พร้อมที่จะเดินก้าวไปในอนาคตครับ”