กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
นวัตกรรมที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างสูง “มัจฉานุ…ยานสะเทินน้ำสะเทินบก ” เมื่อฤดูพายุฝนและน้ำท่วมกำลังใกล้เข้ามา พร้อมความกังวลถึงความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิต การสัญจรและการช่วยเหลือกันในชุมชนด้วยยากที่จะคาดเดาถึงความรุนแรงของภัยพิบัติธรรมชาติในภาวะโลกร้อน ทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล)ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านวิจัยพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ได้เปิดตัวนวัตกรรม “มัจฉานุ…ยานสะเทินน้ำสะเทินบก ” สู้ภัยน้ำท่วม สุดทึ่งสามารถแล่นไปบนถนนและลุยลงน้ำได้ทันทีและทุกที่ ใช้พลังงานสะอาด
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Suchatvee Suwanswat) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) เป็นประธานเปิดตัวนวัตกรรม มัจฉานุ…ยานสะเทินน้ำสะเทินบก กล่าวว่า “ จากแนวทางการเรียนการสอนมุ่งสู่ AEC 360 องศา ที่ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติจริง นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ได้คิดค้นนวัตกรรม “มัจฉานุ” ยานสะเทินน้ำสะเทินบก สู้ภัยน้ำท่วมหรือ Amphibian Vehicle ซึ่งใช้พลังงานสะอาด สามารถแล่นไปบนถนนและลุยลงน้ำได้ทันที บรรทุกคนได้ 2 คน รวมคนขับ น้ำหนักสุทธิประมาณ 250 กิโลกรัม ไม่รวมคนโดยสารและคนขับ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาทิเช่น เสื้อชูชีพ เชือกช่วยชีวิต ห่วงยาง เป็นต้น โหมดรถ ความเร็วสูงสุด 18 กิโลเมตร / ชั่วโมง ระยะทางสูงสุด 25 กิโลเมตรในโหมดเรือ สามารถวิ่งทวนกระแสน้ำที่มีความเร็วสูงสุด 5-8 กิโลเมตร / ชั่วโมง ยานมัจฉานุเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของลูกหลานไทยที่เป็นนักศึกษา 9 คน ในการนำเอาความรู้เทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประกอบด้วย นายภาณุพงษ์ สิงห์หันต์ นายเทวินทร์ นิลสาคร นายสมหวัง แป้นรินทร์ นายรณกฤษณ์ จันทร์แจ่มใส นายสันติสุข ศรีใส นายสุทิวัตร กรพัชร นายภูวดล แสงสุคนธ์ นายภัทราวุธ รอดเกษม นางสาวยศยา ภัทรภูมีมิตร และมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ รศ.ร.อ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล)
ส่วน ที่มาของชื่อ “มัจฉานุ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า มาจากตัวละครในวรรณคดีรามเกียรติ์ที่เลื่องชื่อของโลก โดย มัจฉานุ เป็นบุตรที่เกิดจาก “หนุมาน” กับ “นางสุพรรณมัจฉา” จึงมีร่างกายเป็นวานรเผือกเช่นเดียวกับหนุมาน แต่มีหางเป็นปลา มีฤทธิ์เดชด้วยพละกำลังทางบกเทียบเท่ากับ หนุมาน ผู้เป็นพ่อ และยังสามารถเคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างรวดเร็วดุจดังเงือก จึงเปรียบดังนวัตกรรมนี้ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ทั้งบนบกและในน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์ของนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่ประสบภัยน้ำท่วม และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ยานมัจฉานุนี้มีแนวคิดที่ก้าวล้ำโดยผสมผสานระหว่างการขับเคลื่อนแบบรถและแบบเรือไว้ในยานพาหนะเดียวกัน โดยที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) ในการขับเคลื่อนแทนพลังงานน้ำมันจากฟอสซิล เมื่อมีการเคลื่อนที่บนผิวน้ำ ยานมัจฉานุนี้จะมีการปรับระบบใช้ “โหมดเรือ “ เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนใบพัดของเรือที่ท้องเรือ และในขณะที่พบสภาวะที่เป็นพื้นถนนหรือพื้นดินก็ยังสามารถวิ่งได้เหมือนกับรถยนต์ปกติ โดยใช้ “โหมดรถ” ในการขับเคลื่อนล้อของรถ ระบบของยานมัจฉานุนี้วิ่งเงียบจึงไม่สร้างมลภาวะทางเสียง และเป็นมิตรกับ
สิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งไม่ก่อมลภาวะทางอากาศ ทำให้นวัตกรรมยานมัจฉานุนี้สามารถที่จะตอบโจทย์ และอพยพผู้ประสบภัยที่เกิดจากอุทกภัยได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะต้องเข้าไปตามเส้นทางที่แคบ ทั้งทางน้ำหรือทางบก ส่วนความปลอดภัยของระบบไฟฟ้านี้ จะเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า เช่นในกรณีเกิดอุบัติเหตุ แบตเตอรี่จะไม่ระเบิดหรือจะตัดไฟฟ้าตามคุณสมบัติของแบตเตอรี่ลิเซียมฟอสเฟต
นายภาณุพงษ์ สิงห์หันต์ ( Panupong Singhan) นักศึกษาปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าทีมวิจัย เล่าถึงแรงบันดาลใจว่า “ ทีมงานของเราใช้เวลา 1 ปีเต็ม ในการร่วมกันวิจัยพัฒนา ยานมัจฉานุ จนเป็นผลสำเร็จ มัจฉานุถูกสร้างขึ้นเนื่องจากแนวคิดที่มาจากเหตุการณ์“มหาอุทกภัย” ที่ประเทศไทยของเราได้ประสบในปี 2554 ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการ “คมนาคม” เป็นอย่างมาก เช่น ไม่สามารถอพยพประชาชนที่ประสบภัยออกมาจากที่อยู่อาศัยที่ถูกน้ำท่วมได้ หรือบนเส้นทางที่เป็นแอ่งน้ำขังบนถนนหรือพื้นดินที่มีความเรียบไม่สม่ำเสมอ ทำให้เรือกู้ภัยไม่สามารถเดินทางไปต่อได้ หรือบ่อยครั้งต้องเสี่ยงต่อสัตว์มีพิษที่อยู่ในน้ำ อีกประการหนึ่ง เรือที่นำเข้าไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมักสร้างมลภาวะทางเสียงที่ดังรบกวนและสร้างคลื่นน้ำขนาดใหญ่ที่อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินต่างๆที่มีค่า รวมไปถึงโบราณสถานต่างๆที่ไม่อาจประเมินค่าได้ นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาสูงและก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ได้แก่ก๊าซ “คาร์บอนไดอ๊อกไซด์” และ “คาร์บอนมอนอกไซด์” ที่อาจก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างของยานมัจฉานุ ออกแบบให้มีรูปร่างที่เพรียวลมคล้ายเจ็ทสกี เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ตามหลักพลศาสตร์ของยานยนต์ (Aero Dynamic) และหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส มี 2 มือจับ ใต้ยานติดตั้งล้อ 3 ล้อ โดยที่ล้อทางด้านหลังจะมีสองล้อ และด้านหน้าจะใช้เพียงล้อเดียวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกให้แก่การเข้าโค้งของยานพาหนะในโหมดรถ
ส่วนในด้านต้นกำลังการขับเคลื่อนมัจฉานุ นั้น แหล่งต้นกำลังของยานไฟฟ้าเกิดมาจากส่วนมอเตอร์กระแสตรงชนิดไร้แปรงถ่าน (Brushless DC Motor) ทั้งนี้ที่เลือกใช้มอเตอร์ชนิดนี้ เพราะจะไม่เกิดค่าความสูญเสียจากส่วนแปรงถ่าน ทำให้สามารถทางานได้อย่างเต็มสมรรถนะ ซึ่งแบ่งการทำงาน เป็นมอเตอร์จำนวน 2 ตัวแยกกันทำงานคนละส่วนกัน ซึ่งจะมีรายละเอียด คือ 1.มอเตอร์ขนาด 1 แรงม้า (ความเร็วต่ำ 400 rpm) มีลักษณะ คือ ความเร็วต่ำซึ่งจะถูกใช้เป็นต้นกำลังให้กับล้อรถซึ่งมอเตอร์ตัวนี้จะถูกสั่งให้ทำงานใน” โหมดรถ” 2.มอเตอร์ขนาด 1 แรงม้า (ความเร็วสูง 2,800 rpm) มีลักษณะ คือ ความเร็วสูงซึ่งจะถูกใช้เป็นต้นกำลังให้กับใบพัดของเรือ ซึ่งมอเตอร์ตัวนี้จะถูกสั่งให้ทำงานใน “โหมดเรือ “
นายเทวินทร์ นิลสาคร (Taywin Nilsakorn ) นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงการควบคุมการทำงานของยานมัจฉานุ ว่า เราได้ออกแบบระบบการทำงานในการขับเคลื่อนให้สามารถเลือกได้เป็น 4 รูปแบบการทำงาน เพื่อให้ยานมัจฉานุนี้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างราบเรียบ และเหมาะสมกับงานในทุกๆสภาวะ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 1.ระบบการทำงานเพื่อขับล้อรถในสภาวะที่ต้องเคลื่อนที่บนพื้นสามารถเลือกระบบเดินหน้าหรือถอยหลังได้ 2. ระบบการทำงานเพื่อขับใบพัดเรือในสภาวะที่ต้องเคลื่อนที่บนผิวน้ำสามารถเลือกระบบเดินหน้าหรือถอยหลังได้ 3. ระบบการทำงานเพื่อขับทั้งล้อ และใบพัดเรือพร้อมกันเพื่อช่วยในการเร่งกำลังในสภาวะที่ต้องขึ้นจากน้ำสู่บกหรือจากบกสู่น้ำ 4. ระบบไม่ทำงาน ไม่มีขับมอเตอร์ตัวใด อยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง ในการขับเคลื่อนในสภาวะที่เป็นรถจะออกแบบให้ยานมัจฉานุนี้สามารถที่จะเดินหน้า และถอยหลังได้เช่นเดียวกับรถปกติ ส่วนการขับเคลื่อนในสภาวะที่เป็นเรือจะสามารถบังคับให้เดินหน้า โดยทั้ง 4 กรณีนี้มีการออกแบบ ชุดควบคุมเพื่อเลือกการทำงานของระบบในสภาวะการทางานต่างๆของ
มอเตอร์ได้โดยใช้เพียงการกดปุ่มก็จะสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ทันที ซึ่งทำให้ยานคันนี้เป็นรถไฟฟ้าสะเทินน้าสะเทินบกที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
นายสมหวัง แป้นรินทร์ ( Somwung Panrin) และนายสันติสุข ศรีใส (Santisuk Srisai)กล่าวถึงพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนมัจฉานุ ว่า “นวัตกรรมยานมัจฉานุนี้ใช้พลังงานที่สะอาดในการใช้ขับเคลื่อน โดยเราเลือกใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่ที่ผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้วว่าให้สมรรถนะที่สูงเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ คือ ลิเทียมฟอสเฟต (Lithium — Phosphate) พิกัด 48V 20Ah แบตเตอร์รี่ชนิดนี้จะมีค่าความจุพลังงานต่อน้ำหนัก (Energy Density) ที่สูงกว่าแบตเตอร์รี่ตะกั่วกรด (Lead — Acid) ถึงประมาณ 3 เท่า โดยมีขนาดเล็กกว่าแบตเตอร์รี่แบบตะกั่วกรดประมาณ 3 เท่า อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า 2,000 รอบ และข้อดีคือมีความปลอดภัย ไม่ติดไฟและไม่เกิดการระเบิดแม้จะเกิดลัดวงจร รวมทั้งไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถที่จะทำการควบคุมให้มีการชาร์ตประจุได้เร็วอีกด้วย “
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน (Assoc. Prof.Dr. Werachet Khan-ngern) อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการนี้ กล่าวถึงความเป็นไปได้ทางการตลาดว่า “ เราเตรียมจดสิทธิบัตรยานมัจฉานุ ซึ่งมีลู่ทางโอกาสทางการตลาดกว้างไกล เพราะเป็นพาหนะทางเลือกใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในยุคภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อย อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานสะอาด ประโยชน์ทางด้านสังคม สามารถช่วยเหลือผู้คนที่ประสบอุทกภัย หรือเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ในขณะที่รถปกติ หรือเรือปกติไม่สามารถเข้าถึง ทางด้านธุรกิจ ตอบสนองความต้องการยานพาหนะในตลาด มีราคาไม่สูงมาก ทั้งยังมีขนาดกะทัดรัด เหมาะแก่การขนส่งซื้อขายในประเทศและส่งออก ใช้งานได้ในหลายสภาวะ อาทิเช่น อุทกภัย น้ำท่วม และลดการสูญเสียในพื้นที่เสี่ยง วัสดุที่นำมาใช้ทำยานมัจฉานุ มีความทนทานต่อทุกสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ทางด้านสิ่งแวดล้อม ยานมัจฉานุของเราใช้พลังงานไฟฟ้า ไม่ก่อให้เกิดเสียงดัง หรือมลพิษในอากาศ ลดสภาวะเรือนกระจก ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นอีกจุดขายที่นำเสนอแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และอื่นๆ “
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Asst.Prof. Dr. Komsan Maleesee) รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันภัยพิบัติวิศวลาดกระบังกล่าวถึงแนวโน้มสภาวะน้ำท่วมปี 2556 ว่า แม้ว่าสถานการณ์ในช่วงต้นปี 2556 หลายพื้นที่ประสบกับภาวะแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อนก็ยังต่ำ สามารถรับปริมาณน้ำได้อีกมาก การขุดลอกคูคลองและการก่อสร้างเขื่อนนิคมอุตสาหกรรมจะทำไปแล้วเกือบทั้งหมด นับตั้งแต่ปลายเมษายน —พฤษภาคม เป็นต้นไป เรายังต้องเฝ้าระวังติดตามพายุฝนต่างๆด้วยความไม่ประมาท ยานสะเทินน้ำสะเทินบก มัจฉานุ นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยรองรับภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี