ชีวิตอิสระสำหรับผู้พิการ ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าระยะไกล

ข่าวทั่วไป Friday April 5, 2013 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ทุพพลภาพยิ้มออกด้วยผลงานชิ้นเด็ดจาก มจธ. ส่งอุปกรณ์ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าระยะไกล สั่งงานจากสัญญาณกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ตอบโจทย์การใช้งานแม้ในผู้พิการที่ไม่สามารถขยับตัวได้ตั้งแต่ไหล่ขึ้นไป พร้อมรายงานภาพฉุกเฉินเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ผู้พิการ ทุพพลภาพ สถานะที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการดำเนินชีวิตของผู้พิการทางร่างกายในหลายรูปแบบ และนักศึกษากลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มองเห็นถึงความต้องการของผู้พิการจึงร่วมกันพัฒนาผลงาน“ชุดควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าระยะไกล โดยใช้สวิตช์ตัวเดียวสำหรับการดำรงชีวิตอิสระเพื่อผู้ทุพพลภาพ” 3 นักศึกษา“แบงค์” สพณ พิทักษ์“สนุ้กเกอร์” สุพัทธ์ พยัพพฤกษ์และ “แชมป์” ปฤษฎา เชื้อใจนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งระดับประเทศ ในกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส ในการประกวด “วันนักประดิษฐ์”ประจำปี 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ”แบงค์”กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดสำหรับผู้ที่มีความพิการมากกว่าเดิมให้สามารถใช้งานได้ “ผลงานนี้ทำงานด้วยระบบสแกนซึ่งเดิมถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้พิการที่ยังสามารถใช้แขนได้และใช้มือในการกดสวิตช์ได้ แต่พวกเรานำมาพัฒนาต่อให้มีความพิเศษมากขึ้น ครอบคลุมถึงผู้พิการที่ไม่สามารถขยับตัวได้ตั้งแต่ไหล่ขึ้นไปหรือผู้พิการที่ไม่มีมือ ไม่มีเท้าโดยปรับเพิ่มฟังก์ชันก์พิเศษอุปกรณ์วัดสัญญาณกล้ามเนื้อเข้าไป ซึ่งจะใช้วัดสัญญาณการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าหน้าผาก หรือคิ้วซึ่งในชุดอุปกรณ์ทั้งหมดประกอบไปด้วย เครื่องวัดสัญญาณกล้ามเนื้อที่ติดกับแถบคาดศีรษะ และกล่องบรรจุแผงวงจรสำหรับการทำงานอีกสี่กล่องคือ กล่องควบคุมกลางหนึ่งกล่อง กล่องควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าสองกล่อง และกล่องสำคัญที่สุดคือกล่อง Emergency” “สนุ้กเกอร์”สมาชิกอีกคนในทีมอธิบายถึงวิธีการทำงานว่า อุปกรณ์นี้ใช้ระบบสแกนในการควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งสามารถควบคุมได้สูงสุด 16 เครื่องภายในห้องเดียวกันซึ่งสามารถตั้งในตำแหน่งใดก็ได้เพราะเป็นอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลสูงสุดถึง 100 เมตร โดยเมื่อมีสัญญาณการเกร็งกล้ามเนื้อไม่ว่าจากการขยับคิ้วหรือส่วนอื่นบนใบหน้าเกิดขึ้นจากผู้ป่วยระบบสแกนในกล่องควบคุมจะทำการไล่รหัส (address) ของเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อผู้ป่วยต้องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดใดก็สั่งการด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นการสั่งเปิดหรือปิดนั้นขึ้นอยู่กับสถานะเดิมของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น “ในส่วนการทำงานของกล่อง Emergency ซึ่งกล่องนี้มีความพิเศษตรงที่มีกล้องวงจรคอยจับภาพในห้องที่ผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลาที่เราพัฒนาขึ้นมานั้นหากเมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยเลือกใช้กล่องนี้แสดงว่าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งระบบจะทำการส่งสัญญาณภาพเข้าสู่อีเมล์ของผู้ดูแลหรือญาติทันทีซึ่งสามารถเปิดดูภาพจากกล้องวิดีโอที่ติดตั้งภายในห้องผ่านทางสมาร์ทโฟนทันทีที่มีสัญญาณเตือนว่ามีอีเมล์เข้า ซึ่งจะได้เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที”แชมป์กล่าว ทางด้าน ดร.ศราวัณ วงษา อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษากลุ่มนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานของอุปกรณ์นั้นมีปัญหาคือสัญญาณการเกร็งกล้ามเนื้อที่ใช้ในการสั่งงานกล่องเครื่องมือของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาว่าอุปกรณ์จะไม่ทำงานสำหรับการสั่งงานจากบางคน แต่อย่างไรก็ตามนักศึกษากลุ่มนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยเพิ่มฟังก์ชันการตั้งค่าอ้างอิงซึ่งได้มาจากการบันทึกค่าสัญญาณการทำงานของกล้ามเนื้อในขณะผ่อนคลายและในขณะเกร็งสั่งการ ทำให้สามารถรองรับการสั่งงานได้กับทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม “แชมป์” ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมานั้นยังเป็นชุดต้นแบบซึ่งจะทำการพัฒนาต่อให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้นและจะนำไปติดตั้งที่โรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์โดยตรงและหากผลเป็นที่น่าพอใจอาจมีการขยายผลงานให้ผู้ป่วยนำกลับไปใช้ที่บ้านและเข้าสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป แต่ประโยชน์สูงสุดของผลงานนี้คือคุณค่าทางจิตใจที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องคิดว่าตนเองต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ