กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--กรมอนามัย
องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกษียณอายุที่ 65 ปี แต่สำหรับประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปถือว่าเป็นผู้สูงอายุ และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยที่อายุ 80 ปี หมายความว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีทุกคน ก็จะต้องกลายเป็นผู้สูงอายุที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่ออีกอย่างน้อย 20 ปี จึงต้องเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคปริทันต์ ซึ่งเป็นโรคในช่องปากที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากเนื่องจากรับประทานอาหารไม่ได้ ทำให้คุณภาพชีวิตในบั้นปลายไม่มีความสุขขาดรอยยิ้มที่สดใส
โดย นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลหลังจากเป็นประธานเปิดการประชุมขยายเครือข่ายฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โดยหน่วยบริการปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุไทยกว่าร้อยละ 75 มีปัญหาสุขภาพ อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง และมีข้อจำกัดทางสายตา ด้านการได้ยิน การเคลื่อนไหว ความจำ รวมทั้งการใช้กล้ามเนื้อในการช่วยเหลือดูแลตนเอง ขณะเดียวกันเกือบทุกคนมีปัญหาในช่องปาก และเสี่ยงต่อการเกิดโรคใหม่หรือเป็นโรคเดิมที่รุนแรงขึ้นมาใหม่ เนื่องจากวัยสูงอายุเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค รวมทั้งโรคในช่องปากได้ง่าย ซึ่งเชื้อโรคและปัจจัยเสี่ยงบางอย่างสัมพันธ์กัน เช่น โรคเบาหวานกับโรคปริทันต์ การติดเชื้อในช่องปากกับปอดอักเสบจากการสำลัก การใช้ยารักษาโรคทางระบบทำให้น้ำลายแห้ง รวมทั้งความสามารถในการดูแลตัวเองลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียฟันทั้งสิ้น ดังนั้นสุขภาพช่องปากจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน ดังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง พึงตระหนักว่าตนเองมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในช่องปากได้ง่าย แต่สามารถป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ด้วยการดูแลอนามัยในช่องปากที่ดี
การดูแลสุขภาพช่องปากที่สำคัญ คือ ต้องดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองหรือโดยผู้ดูแล ด้วยการทำความสะอาดเหงือกและฟันให้ดีที่สุด ทั้งการแปรงฟัน การทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟัน และอย่าลืมทำความสะอาดฟันเทียม(ฟันปลอม) ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยงเช่น บุหรี่ สุรา หมาก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละครั้งหรือตามที่ทันตบุคลากรนัดหมาย และรับบริการตามความจำเป็น
หากผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ต้องนอนหรือนั่งอยู่กับที่หรือมีภาวะทางจิตที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแลสุขภาพช่องปากให้ โดยสามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ 1.การดูแลทำความสะอาดช่องปากและป้องกันโรค เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกช่องปากสะอาดขึ้น ทำให้อยากรับประรับทานอาหารเพิ่มขึ้น ป้องกันการเกิดแผลและลดการติดเชื้อในช่องปาก เช่น เชื้อรา ซึ่งอาจมีผลต่อความรุนแรงของโรคทางร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดรอยโรค เช่น ฟันผุ ปริทันต์ ลดความเจ็บปวดหรือความรู้สึกไม่สบาย เพราะจะส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย 2. การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า ลิ้น และการนวดต่อมน้ำลาย เพื่อช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพการกลืนและการพูด
นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพโดยรวมของผู้สูงอายุ จึงกำหนดให้การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเป็นประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ โดยบูรณาการการดูแลสุขภาพกาย จิตใจ สังคม ซึ่งรวมด้านสุขภาพช่องปากด้วยเพื่อสนองกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ ในส่วนของการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ได้ประสานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินงานภายใต้โครงการฟันเทียมพระราชทานและส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ที่เริ่มต้นจากการใส่ฟันเทียมแก่ผู้สูญเสียฟันตั้งแต่ปี 2548 และต่อยอดมาที่การลดการสูญเสียฟัน เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้กิจกรรม 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การจัดบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือเกือบทั้งปากในผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร ปัจจุบันมีผู้สูงอายุได้ใส่ฟันเทียมพระราชทานกว่า ๒๘๐,๐๐๐ ราย 2.บริการส่งเสริมป้องกันในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล เป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้บ้านและเป็นที่พึ่งแห่งแรกของผู้สูงอายุ ซึ่งมีการจัดบริการประมาณ ๓๑๓ แห่ง ในปี ๒๕๕๖ จะขยายและพัฒนาศักยภาพเพิ่ม ๑๕๐ แห่ง 3.ชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ๒,๔๘๔ ชมรม
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุทุกท่านไม่ได้เจ็บป่วย และด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร ความสะดวกในการเดินทางไปรับบริการของผู้สูงอายุและญาติ ทำให้การจัดบริการรักษาไม่สามารถครอบคลุมผู้สูงอายุทุกคนได้ ตัวผู้สูงอายุเองที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี แข็งแรงควบคู่กับการดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง และสร้างรอยยิ้มที่สดใสในบั้นปลายชีวิตได้อย่างมีความสุข