กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--มทร.ธัญบุรี
“บ่องตง จุงเบย ฝุดๆ” 3 คำ ที่กำลังได้รับความนิยมของชาวอินเทอร์เน็ต ความเหมาะสมของภาษาที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม วัยุร่น มทร.ธัญบุรี คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ไปฟังความคิดเห็นของพวกเขากันเลย
นายโสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล เล่าว่า ในฐานะที่เป็นครูสอนภาษาไทย ไม่อยากให้เรียกว่า “ภาษาวิบัติ” ให้ใช้คำว่า “ภาษาอุบัติ” เนื่องจากเป็นการอุบัติขึ้นมาใหม่ มีวิวัฒนาการ ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากมีเทคโนโลยีเข้ามา คนไทยนิยมพูดกันสั้นๆ ยกตัวอย่างการเรียกชื่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็น วิศว รวมไปถึงรับคำภาษาต่างชาติเข้ามา เช่น เวอร์ แปลว่ามา มาจากคำว่า โอเวอร์ สำหรับวัยรุ่นที่นิยมวิวัฒนาการภาษาแปลกใหม่ขึ้นมา “บ่องตง” มาจากการพิมพ์ระบบในคีย์บอร์ด เกิดเป็นคำมักง่ายของภาษาไทย กลายเป็นคำพูดติดปาก แต่พูดไม่ชัดทำให้เขียนถูกต้อง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นกระแสจนกลายเป็นแฟชั่น แฟชั่นในเรื่องของภาษา ซึ่งมีการเกิด นำมาใช้ แล้วก็จบลง เช่น คำว่าชิมิ ซึ่งตอนนี้ไม่เป็นที่นิยมแล้ว ภาษาแปลกใหม่เกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่ว่าผู้ใหญ่จะยอมรับได้มากน้อยเพียงใด "วัยรุ่นควรใช้ให้ถูกกาลเทศะ" ระวังในการนำมาเขียน ไม่ว่าจะเขียนในการสอบ หรือการเขียนโครงการต่างๆ
“ตั้ม” นายชาติชาย บุญตอม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 (หลักสูตรต่อเนื่อง) สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม — โทรคมนาคม เล่าว่า “ภาษาวิบัติ” ประเด็นที่ถกเถียงกันมานาน โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นช่วงเพียงเวลาหนึ่ง ที่คนใช้ภาษาอยากเปลี่ยนรสชาติของการใช้ภาษา หรือเป็นการเล่นกับคำให้ดูแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร แต่ในทางสังคมคนรุ่นหลังมีความเป็นห่วงลูกหลานจะใช้ภาษาผิดๆ ถูกๆ เด็กสมัยนี้จึงถูกมองว่า ใช้ภาษาวิบัติ “มองว่ามันเป็นวิวัฒนาการของการใช้ภาษาลองผิดลองถูก” แต่ในหน่วยงานราชการภาษายังมีแบบแผน คอยขัดเกลาภาษาอยู่ ทุกสิ่งเป็นไปตามยุคสมัย ตอนเรียนอยู่มัธยม ตอนนั้นคำว่า “จ๊าบ” การแสดงถึงอาการฮิตมาก ตอนนี้หายไปแล้ว กลับมาศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น “แอ๊บเวอร์” ซึ่งคำเหล่านี้อีกไม่กี่ปีคงหายไปจากสังคมไทย และถูกมองว่าเป็นคำโบราณ และถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่พูดจาแบบ “ท่านขุน”ม
“ฟิว” นายปริวรรต เส็งพ่วง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิทย์-อาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร เล่าว่า ภาษาเด็กวัยรุ่นที่ใช้กันในโลกออนไลน์ เป็นคำที่แผลงมาจากคำพูดที่ใช้กันบ่อยๆ ซึ่งคำพวกนี้นำมาพูดในกลุ่มเพื่อนๆ ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าหากนำไปพิมพ์หรือพูดด้วยเรื่องที่สำคัญ ทำไมภาษาพวกนี้ถึงได้รับความนิยม เนื่องจากนิสัยของวัยรุ่นต้องการการยอมรับ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ซึ่งทุกวันนี้ เด็กไทยนิยมพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อยู่กับสังคมออนไลน์ มากกว่าสังคมปัจจุบัน จึงมีคำแปลกแผลงออกมา “ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การที่จะพิมพ์อะไรหรือพูดอะไร ต้องดูกาลเทศะเป็นอันดับต้นๆ”
“ปาร์ตี้” นางสาวสิริมา แจ้งใจ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการท่องเที่ยว คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ภาษาวิบัติเริ่มมาจากสังคมออนไลน์ จนเป็นสาเหตุของคำพูดติดปาก ไม่เห็นด้วยกับการใช้ภาษาที่ปิดไปจากเดิม เพราะว่า ทำให้เสียงหรือความหมายผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทำให้การสื่อสารในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ ควรจะใช้คำที่ถูกต้อง จนติดเป็นนิสัย อ่านเข้าใจง่าย อยากให้วัยรุ่น ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพื่อดำรงรักษาภาษาไทยให้อยู่คู่กับสังคมไทย แต่สังคมทุกวันนี้ “ความแปลกจะทำให้ได้รับความสนใจ” ซึ่งเป็นนิสัยส่วนใหญ่ของวัยรุ่นไทย
“ทิยา” นางสาวกิติยา ละลายทุกข์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาสถิติประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า ภาษาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น เกิดขึ้นมา แล้วก็หายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถห้ามได้ เพราะ การสื่อสารของคนในปัจจุบัน สะดวกขึ้น อาศัยความสะดวกเป็นช่องทางในการพูดคุย พูดคุยผ่าน facebook หรือโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ มือพิมพ์ พิมพ์ไปพิมพ์มา กลายเป็นคำใหม่ ภาษาไทยเป็นภาษาที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของชาติ หากคนในชาติใช้ภาษาวิบัติ ชาวต่างชาติได้ยินคงแปลกใจ
“โอลีฟ”นางสาวอโรชา บุญตะหล้า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการโรงแรม คณะศิลปศาสตร์ เล่าว่า ทำไมภาษาวิบัติจึงเป็นที่นิยม เนื่องจากพิมพ์ง่าย ดูเป็นภาษาพูดมากกว่า และที่สำคัญดูน่ารัก แต่ไม่เห็นด้วยที่นำมาใช้ในโลกออนไลน์ เพราะว่า ดูไม่เหมาะสม อาจติดเป็นนิสัย เช่น เวลาเรียนเขียนรายงาน หรือเอกสารสำคัญ อาจเผลอเขียนภาษาเหล่านั้นลงไป เพราะว่า เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับตนเอง ตอนนี้ตนเองพยายามที่จะไม่ใช้ภาษาดังกล่าว จะพยายามใช้ภาษาที่ถูกต้อง
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับภาษาไทยทุกวันนี้ จะมีภาษาแปลกๆ เกิดขึ้น แต่ยังไรก็ตาม ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทย ภาษาพ่อภาษาแม่ ที่สืบทอดสื่อสารถ่ายทอดต่อกันมาช้านาน ทุกคนในสังคมควรภูมิใจและใช้ให้ถูกต้อง ถูกกาลเทศะ
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 02-549-4994