กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการนำคณะเข้าตรวจสอบสถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ได้รับความเสียหายมากกว่าร้อยละ 40 จากกลุ่มอาการตายด่วน (EMS:Early Mortality Syndrome) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีเกษตรกรผู้ผลิตกุ้งทะเลเกือบ 9,000 ราย ว่า จากสถานการณ์การตายของกุ้งขาวแวนนาไมใน 20-30 วันแรกของการเลี้ยงนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ร่วมกับเกษตรกร และผู้ประกอบการโรงเพาะฟักกุ้งทะเลได้แสดงเจตจำนงในการปรับปรุงสุขอนามัยฟาร์ม ตามหลักปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาความสูญเสียจากการตายด่วนในกุ้ง ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ได้ดีขึ้นมาเป็นลำดับ โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อต้องการยืนยันภาวะการผลิตกุ้งในภาคตะวันออกว่ามีข้อเท็จจริงอยู่ในจุดใด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้สร้างความเข้าใจในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรกร ภาคธุรกิจเกี่ยวกับห้องเย็น โดยยืนยันว่า EMS ไม่ได้เป็นโรค แต่การตายด่วนดังกล่าวเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีความรุนแรง โดยช่วงอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวันมีมากกว่า 10 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์น้ำอยู่ในภาวะอ่อนแอ ทำให้เชื้อโรค ทั้งปรสิต แบคทีเรีย หรือไวรัส ที่มีอยู่แล้วในบ่อเลี้ยง เข้าโจมตีตัวกุ้งได้ง่ายและนำไปสู่การตายในที่สุด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวสามารถป้องกันไม่ให้เกิดและแพร่ระบาดออกไปได้ ด้วยวิธีการที่กรมประมงได้ประชาสัมพันธ์ออกไปสู่ผู้ประกอบการ ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้มีการปฏิบัติกันอยู่แล้วในกลุ่มเกษตรกรที่มีความเป็นมืออาชีพ โดยให้ความเอาใจใส่ และมีความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงกุ้งที่ตนเองยึดเป็นอาชีพมาช้านาน ทั้งนี้ จากการตรวจเยี่ยมสถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลใน จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า ฟาร์มเพาะฟักลูกกุ้งมีการปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟัก เพื่อลดความเสี่ยงขั้นต้นที่จะนำไปสู่การตายด่วนของกุ้งที่จะนำไปลงในบ่อเลี้ยง โดยการควบคุมดูแลทั้ง 4 ปัจจัย คือ คุณภาพน้ำ สุขอนามัยของบ่ออนุบาล อาหารกุ้ง และการจัดการในช่วงการอนุบาล ในขณะที่ในฟาร์มเลี้ยง ผู้เลี้ยงเองก็มีการปรับวิธีการเลี้ยงกุ้งให้สอดคล้องตามหลักวิชาการของสภาพช่วงปลายปีต่อต้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศรุนแรง เช่น การคัดเลือกลุกกุ้งที่มีคุณภาพ การเตรียมบ่อเลี้ยงให้มีอาหารธรรมชาติอย่างเพียงพอก่อนการปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง การเตรียมระดับน้ำให้สูงเพียงพอต่อการควบคุมอุณหภูมิน้ำร่วมกับการตีน้ำให้อุณหภูมิน้ำไม่แบ่งชั้นและมีออกซิเจนเพียงพอ รวมทั้งการปล่อยกุ้งลงเลี้ยงให้มีความหนาแน่นน้อยกว่าฤดูอื่นๆ โดยฟาร์มส่วนใหญ่ได้ปรับการบริหารจัดการฟาร์มก่อนการเลี้ยง และระหว่างการเลี้ยงให้ดีขึ้นตามคำแนะนำของนักวิชาการ และสามารถกลับมาเลี้ยงกุ้งได้แล้ว ในขณะที่ในพื้นที่เดียวกัน ฟาร์มที่ไม่มีการปรับตัวดังกล่าวยังคงมีความเสียหายอยู่
“จากข้อมูลที่ได้จากนักวิชาการและผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ครั้งนี้ เป็นที่แน่ใจได้ว่า ความเสียหายที่เกิดจากกลุ่มอาการตายด่วน (EMS) ได้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ซึ่งปลายเดือนเมษายนนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่าในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ผลผลิตกุ้งของภาคตะวันออกที่เคยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของผลผลิตทั้งประเทศก็จะกลับมาเหมือนเดิม นั่นหมายถึงสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยจะเข้าสู่ภาวะที่เป็นปกติ โดยผลผลิตเป็นไปตามที่มีการวิเคราะห์ไว้เมื่อต้นปี คือ ประมาณ 450,000 ตัน” นายนิวัติกล่าว