กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--ป.ป.ช.
สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๒ (พ.ศ. 2556-2560) เพื่อพัฒนาแผนต่อต้านการทุจริตของประเทศและนำมาใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน ป.ป.ช. และแผนปฏิบัติการของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการต่อต้านการทุจริตแบบบูรณาการ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๒ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2551-2555) ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปลูกจิตสํานึก ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมและสร้างวินัยแก่ทุกภาคส่วน ยุทธศาสตร์ที่ 2 รวมพลังแผ่นดินป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่หน่วยงานที่ต่อต้านการทุจริต และยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างบุคลากรมืออาชีพป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ สำหรับช่วงครึ่งแรก เกิดปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมน้อยในประเด็นผลประโยชน์สาธารณะ ขาดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ของสำนักงาน ป.ป.ช. ด้านทรัพยากรของสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวคือทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ ไม่เพียงพอในการสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ การขาดบูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย ประชาชนบางกลุ่มในสังคมไทยเพิกเฉยและให้การยอมรับต่อการทุจริต และภาคการเมืองขาดความจริงใจในการร่วมกันแก้ไขปัญหา
ดังนั้น ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 จึงต้องการมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้ง 7 องค์กร องค์กรฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และ ครอบคลุมทุกภาคส่วน ด้านการเผยแพร่/ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ การให้การศึกษา และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผนต่อต้านการทุจริตของประเทศที่มีการบูรณาการแผนงานในด้านต่างๆ และสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงการทุจริตในอนาคต นำไปสู่การพัฒนาแนวทางความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจังให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในองค์รวม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่มีการบูรณาการให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งระบบให้มีทิศทางการบริหารจัดการอย่างสอดประสานเพื่อให้การดำเนินการตามแผนต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน
พร้อมทั้งนำมาใช้เป็นกรอบของแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน ป.ป.ช.และแผนปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีส่วนสำคัญคือ การมุ่งเน้นให้มีการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ การพัฒนาความเป็นมืออาชีพของบุคลากร การช่วยเหลือผู้ร้องเรียน รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน โดยทำให้ภาคีเครือข่ายเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมต่อต้านการทุจริต ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาการทุจริตและความร่วมมือกันในการต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน
จากการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นที่มีขึ้นในวันที่ 4 และ ๕ มีนาคม 2556 ที่ผ่านมาจึงถือเป็น ก้าวแรกสำหรับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๒ ที่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในภาพรวม และทิศทางการพัฒนาต่อต้านการทุจริตในระยะยาว เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกรอบและแนวทางการศึกษาในการจัดทำแผน และสำนักงาน ป.ป.ช.จะเร่งระดมรับฟังความคิดเห็นร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ ๒ รวมทั้งยุทธศาสตร์สำนักงาน ป.ป.ช. ในระดับพื้นที่จากทุกภาคส่วนจำนวน ๕ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๖ ณ ห้องคาริเบียน เดอะไทด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี โดย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดการประชุม หลังจากนั้นเป็นการสรุปผลการดำเนินงานการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 1 โดย ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. และนำเสนอภาพรวมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 และตอบข้อซักถามโดย คณะที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย : TDRI นอกจากนี้ในช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ในส่วนทิศทางการพัฒนา (วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์หลัก)
ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ ที่กรุงเทพฯ
ครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๖ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ ที่จังหวัดขอนแก่น
ครั้งที่ ๕ ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ คาดว่าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๒ (พ.ศ. 2556-2560) จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖