กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กรมสุขภาพจิต
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ว่า ช่วงเวลา ดังกล่าวเป็นวันหยุดยาว ถือเป็นโอกาสดีที่ครอบครัวและชุมชนจะได้มีโอกาสแสดงความรัก สร้างความผูกพันระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ภายในปี 2573 ข้อมูลจากการคาดประมาณขององค์การสหประชาชาติ ชี้ให้เห็นว่า เกือบทุกประเทศในอาเซียนจะเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ยกเว้นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนประเทศที่จะอยู่ในภาวะสูงอายุทางประชากรอย่างเต็มที่ คือ สิงคโปร์ และไทย โดยประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุ ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ หรือ กล่าวได้ว่า ประชากรทุก 4 คน จะเป็นผู้สูงอายุ 1 คน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2537-2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงให้เห็นแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของการที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับบุตร แต่มีแนวโน้มที่จะอยู่ลำพัง หรืออยู่ลำพังกับคู่สมรสเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจสุขภาพจิตหรือความสุขประชากรสูงอายุในประเทศไทย จำนวน 32,000 คน จาก 80,000 ครัวเรือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม — กรกฎาคม 2554 พบว่า ผู้สูงอายุไทยมีคะแนนสุขภาพจิตหรือความสุขโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 31.98 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของคนไทยทั่วๆ ไป และผู้สูงอายุชายมีความสุขมากกว่าผู้สูงอายุหญิง ที่สำคัญ ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวมีความสุขต่ำกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ลำพังคนเดียว และผู้สูงอายุที่อยู่กับบุตร (คะแนน 30.47 32.17 และ 32.27 ตามลำดับ) ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความรักและความผูกพัน ที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขได้ ไม่เฉพาะเพียงได้อยู่กับลูก แต่หมายรวมถึง การได้อยู่กับคู่สมรส ญาติพี่น้อง หลานๆ หรือแม้แต่เพื่อนบ้านในละแวกชุมชนเดียวกัน ก็ช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และมั่นคงในจิตใจขึ้น
เพื่อสร้างความรัก ความผูกพัน กับผู้สูงอายุ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะว่า ด้านครอบครัว สมาชิกในครอบครัวควรหันมาสนใจผู้สูงอายุ โดยเอาใจใส่และดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะในเวลาปกติหรือในเวลาเจ็บไข้ รวมทั้ง การรับฟัง และหากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว เช่น การพาผู้สูงอายุไปวัด ให้ผู้สูงอายุไปเที่ยวพักผ่อนในสถานที่ต่างๆ กับครอบครัว ตลอดจนให้เกียรติ ยกย่อง ให้ความเคารพนับถือ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า มีความอบอุ่น มีเพื่อน ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง เนื่องจาก ธรรมชาติ ของผู้สูงอายุ มักจะใจน้อย คิดว่าลูกหลานไม่รัก กังวลในเรื่องที่ต้องพึ่งพาลูกหลาน จนกลายเป็นความกลัว ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง บ้านใดมีผู้สูงอายุ จึงควรคอยสังเกตและใส่ใจดูแลให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ตลอดจน สนับสนุนให้ได้รับการออกกำลังกายที่ถูกวิธี เพื่อเป็นการพัฒนาร่างกายควบคู่กันไป ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีแล้ว ยังจะกลายเป็นวัคซีนที่ดีของสมาชิก ทุกคนในครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านชุมชนและสังคม นับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความสุขของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก การที่ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม หรือชุมชน จะส่งผลให้ผู้สูงอายุ รู้สึกสนุก เบิกบานใจ มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้สูงอายุได้ถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ชุมชนจึงควรให้ความสำคัญแก่ผู้สูงอายุ โดยสนับสนุนการจัดกิจกรรมหรือการจัดให้ผู้สูงอายุเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ แก่คนรุ่นหลัง หรือจัดงานเพื่อดำรงไว้ซึ่งคุณค่าและการให้ความเคารพนับถือแก่ผู้สูงอายุ อาทิ การรดน้ำขอพรวันสงกรานต์ หรือการจัดกิจกรรมเพื่อการดำรงไว้ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมไทย โดยมีผู้สูงอายุเป็นผู้นำ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้สูงอายุเอง ก็ควรทำใจยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจของตัวเอง หรือด้านร่างกายที่มีสภาพเสื่อมถอย ว่าเป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้ง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด อาทิ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่