กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
RECOFT จับมือองค์กรภาคีด้านสิ่งแวดล้อม จัดงาน “เยาวชนต้นกล้า” เปิดโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดจากเยาวชนในป่าใหญ่สู่เยาวชนสังคมเมือง
จากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่คนทั่วโลกประสบปัญหา ทั้งในเรื่องของการขาดแคลนน้ำ ภาวะโลกร้อน ปัญหาแผ่นดินไหว ปัญหาเหล่านี้ทำให้ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่พยายามคิดหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงานสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เกิดพลังเล็กๆ ของกลุ่มเยาวชน ที่เริ่มตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมและรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนของตนเช่นเดียวกัน
งานเยาวชน เยาวชนต้นกล้า “GREEN Generation พลังสร้างสรรค์เพื่อดิน น้ำ ป่า” ทางศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือที่คุ้นหูในนาม RECOFTC ร่วมมือกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK Park, มูลนิธิสยามกัมมาจล, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ThaiPBS, มูลนิธิกองทุนไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้นเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเยาวชนในท้องถิ่นชนบทที่อาศัยและพึ่งพาป่า กับเยาวชนคนเมือง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการอนุรักษ์พลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลายร่วมกัน โดยกิจกรรมต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
รูปแบบของกิจกรรมเป็นการเข้าค่าย 4 วัน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ วางแผน เสนอความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเองกับเพื่อนจากพื้นที่อื่นผ่านการทำงานร่วมกัน มีการลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ชุมชนเพื่อให้เยาวชนที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สำรวจวิถีชีวิตชุมชนกับทรัพยากรของคนในชุมชนเมือง 4 ชุมชนย่าน “บางลำพู-ป้อมพระสุเมรุ” เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงของชุมชนจากวิถีคลองสู่การสัญจรด้วยถนน ฟังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนจากตลาดเก่าสู่เส้นทางธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าย่านถนนพระอาทิตย์ การจัดการฟื้นฟูลองบางลำพู โดยประชาคมบางลำพู
นอกจากกิจกรรมการลงพื้นที่ยังเปิดเวที “เสวนา เยาวชนพันธุ์ใหม่ ใส่ใจรักษ์โลก” เพื่อเป็นเวทีแสดงให้เห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชนทั้งเยาวชนในท้องถิ่นและชุมชนเมืองที่สนใจทรัพยากรสิ่งแวดล้อมรอบตัวและลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันจัดการฟื้นฟู ดูแล ดิน น้ำ ป่า ของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ ทั้งจากกลุ่มเยาวชน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม กับการจัดทำโครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดิน เพื่อเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และการรณรงค์ลดใช้สารเคมีในการปลูกพืชของเกษตรกร หรือกลุ่มเกสรบางลำพูที่ร่วมมือกับประชาคมบางลำพู จ.กรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกันจัดโครงการเยาวชนรักษ์คลองบางลำพู ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างเพื่อนเยาวชนร่วมเป็นกลไกคนรุ่นใหม่ในการฟื้นฟูคลองบางลำพู
ภายในงานนอกจากกจะมีเวทีเสวนาแล้ว ยังมีนิทรรศการจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่นำเสนอให้เยาวชนที่เข้าร่วมงานเห็นถึงระบบนิเวศและการจัดการทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อม และความเชื่อมโยงระบบดิน น้ำ ป่า ระบบการผลิตและการบริโภค ,นิทรรศการการให้ความรู้ในเรื่องของการ Recycle การแสดงดนตรีของกลุ่มเยาวชนโครงการ สื่อ ศิลป์ ดิน น้ำ ป่า จาก ThaiPBS การฉายภาพยนตร์สั้นที่ได้รับรางวัลเทศกาล Bangkok International Forest Film Festival ภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวของความสำเร็จของกลุ่มคนที่เข้ามามีบทบาทในการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบริเวณที่ตนอาศัยอยู่ ความพยายาม ความอดทน และการต่อสู้เพื่อให้ทรัพยากรของชุมชนที่ตนอยู่กลับมามีความสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง อาทิ ภาพยตร์สั้นเรื่อง เสียงจากป่า, ไร่หมุนเวียน, Green และ Man of the soil (Nom Tew) เป็นต้น
ตัวแทนกลุ่มเยาวชนจากทั่วภูมิภาคได้บอกเล่าถึงความรู้สึกหลังจบค่ายเยาวชนในต้นกล้าครั้งนี้ว่า “ จากการเข้าค่ายเยาวชนต้นกล้าในครั้งนี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ผ่านการนำเสนอผลงานของกลุ่มเพื่อน ๆที่มาเข้าค่ายในครั้งนี้ ผมมองว่างานนี้เป็นงานที่ดีมาก เพราะทุกคนมาด้วยใจ เปิดประตูการเรียนรู้ เปิดใจเข้าหากันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กัน ในส่วนของการลงพื้นที่ ที่ชุมชนบางลำพูนั้น สิ่งที่ผมได้คือ เรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในการบำบัดน้ำ การรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหาและนำมาสู่การขยายต่อยอดจนเกิดเป็นเครือข่ายชุมชนบางลำพู” นายนพชิต เมืองแก้ว ตัวแทนกลุ่มเยาวชนรักน้ำตกนกยูง จังหวัดตรัง กล่าว
ด้านของนางสาวกุสุมา คำพิมพ์ ตัวแทนกลุ่มเยาวชนเมล็พันธุ์ใหม่สานใจฟื้นฟูป่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า “การมาเข้าค่ายในครั้งนี้ สิ่งที่ตนเองรู้สึกดีใจคือการได้มานำเสนอปัญหาและกิจกรรมที่กลุ่มเยาวชนเมล็ดพันธุ์ใหม่ได้ร่วมกันทำมานำเสนอให้กับเพื่อนเยาวชนแลผู้ใหญ่ใจดีได้รับฟัง สำหรับกิจกรรมที่ประทับใจที่สุดคือ การลงพื้นที่ชุมชนบางลำพู เพราะทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างของพื้นที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ พวกเราทั้งเยาวชนเมืองและนอกเมืองต่างพยายามที่จะทำเรื่องของการอนุรักษ์เหมือนกัน แต่ก็อาจจะมีความยากลำบากที่แตกต่างกันไป อีกอย่างที่เหมือนกันคือ พวกเราทั้งกลุ่มเมืองและนอกเมืองต่างพยายามอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่ให้มั่นคงให้คงอยู่ต่อไป และพยายามฟื้นฟูสิ่งที่หายไปให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม”
ในส่วนของตัวแทนกลุ่มเมือง นางสาวณัฐชยา ชิณกะธรรม ตัวแทนเครือข่ายจิตอาสาชาวเลือดหมูดำ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนของเยาวชนเมืองได้แลกเปลี่ยนถึงการเข้าค่ายในครั้งนี้ว่า “สำหรับการได้มาเข้าค่ายในครั้งนี้ ทำให้เห็นมุมมองของเพื่อน ๆ ในท้องถิ่นที่สามารถทำให้พื้นที่ในชุมชนของเขาเองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น การที่เราอยู่ในชุมชนเมืองใช่ว่าเราจะทำไม่ได้ เราเองก็สามารถพัฒนาพื้นที่ในส่วนของตัวเองได้ แล้วค่อยขยายออกไปจากเมืองสู่ป่า ไม่ใช่แค่จากป่าสู่เมืองอย่างเดียวค่ะ”
จากการเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 4 วันที่น้อง ๆ กลุ่มเยาวชนจากต่างพื้นที่ได้มาร่วมตัวกัน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิด ทัศนคติจากสังคมหนึ่งสู่อีกหนึ่งสังคม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้มีเพียงเราที่ลุกขึ้นมาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในชุมชนเรา หากแต่ยังมีเพื่อน ๆ อีกจากหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศที่ลุกขึ้นมาใส่ใจ และตระหนักเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เช่นเดียวกับเรา