กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งพบว่า พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มีเงื่อนไขและข้อกำหนดในกฎหมายที่ยังมีความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อผู้เช่าที่นาและเจ้าของที่ดิน อาทิ ปัญหาการควบคุมระยะเวลาการเช่านา การบอกเลิกการเช่านา การสิ้นสุดระยะเวลาการเช่านา การกำหนดอัตราค่าเช่า และ การดำเนินการเมื่อต้องการขายที่ดินของเจ้าของที่ดิน ซึ่งจากสภาพปัญหากฎหมายและการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ที่ดินส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่าไม่มีการใช้ประโยชน์ ขณะที่เกษตรกรส่วนหนึ่งไร้ที่ทำกินเป็นของตนเองและขาดโอกาสในการเช่าที่นา เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม
นายชวลิต กล่าวว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้เสนอแนวทางการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯที่เหมาะสม อาทิ การเปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินและผู้เช่านาสามารถตกลงระยะเวลาของการเช่าที่ดินกันใหม่ได้ โดยอาจลดเวลาเดิมลงแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการซึ่งจะมีภาคท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางสนับสนุน เพื่อรักษาที่ดินหรือเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น เช่น การจัดตั้งธนาคารที่ดิน การคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีที่ดิน การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นต้น
“พ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯ พ.ศ.2524 ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างเจ้าของที่นากับผู้เช่าในหลายประการ เช่น ระยะเวลาการเช่านานาน 6 ปี ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจแก่เจ้าของที่นาที่ไม่สามารถจะนำที่ดินของตนเองไปใช้ประโยชน์อื่นได้ในเวลาที่ต้องการ หรือเงื่อนไขของกฎหมายเดิมเมื่อเจ้าของที่นามีความประสงค์ที่จะขายที่นาที่มีการเช่าจะต้องดำเนินการแจ้งให้ผู้เช่าทราบก่อนและต้องให้สิทธิผู้เช่านาเป็นผู้ซื้อก่อนหรืออัตราค่าเช่านา ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ จะคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเดิมที่ชาวนาจะได้รับและเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าของที่ดินในการปล่อยเช่าที่นา อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความชัดเจนคณะทำงานจะพิจาณาผลสรุปของการศึกษาดังกล่าวโดยละเอียดอีกครั้ง ก่อนส่งเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” นายชวลิต กล่าว