กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สสว.
สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 46.1 โดยค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และบริการก่อสร้าง ดัชนีลดลงในระดับสูง ผลจากผู้ประกอบการกังวลด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เช่นเดียวค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและการส่งออกของประเทศหดตัวลง แต่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ดี ผลจากการไหลเข้าของเม็ดเงินจากต่างประเทศ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2556 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 46.1 จากระดับ 46.6 (ลดลง 0.5) และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 47.8 45.5 และ 46.0 จากระดับ 49.5 45.7 และ 46.5 (ลดลง 1.7 0.2 และ 0.5) ตามลำดับ ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 49.1 และ 48.2 จากระดับ 44.0 และ 44.1 (เพิ่มขึ้น 5.1 และ 4.1) ตามลำดับ
โดยค่าดัชนีรวมภาคการค้าและบริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ปรับตัวลดลงทุกภาคธุรกิจ ผลจากผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุนเป็นหลัก เนื่องจากระดับราคาขายปลีกน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงลิตรละ 2.00 บาท และ 0.20 บาท ตามลำดับ และการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ ระดับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และปรับตัวลดลงร้อยละ 4.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าครองชีพของประชาชนปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้การส่งออกหดตัวลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าการส่งออก 17,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค่าดัชนีลดลงในระดับสูงอยู่ที่ 47.5 จากระดับ 50.0 (ลดลง 2.5) ภาคค้าปลีก กิจการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ค่าดัชนีลดลงในระดับสูง อยู่ที่ 46.3 จากระดับ 48.6 (ลดลง 2.3) โดยมีผลจากการเร่งการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา และประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ภาคบริการ พบว่า บริการด้านการก่อสร้าง ค่าดัชนีลดลงระดับสูงอยู่ที่ 50.8 จากระดับ 51.3 (ลดลง 0.5) ผลจากราคาวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างอยู่ที่ระดับ 125.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 54.4 จากระดับ 55.0 (ลดลง 0.6) และเป็นการลดลงของทุกภาคธุรกิจ โดยกิจการภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 51.9 54.6 และ 55.1 จากระดับ 53.3 54.8 และ 55.9 (ลดลง 1.7 0.2 และ 0.5) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 61.8 จากระดับ 63.8 (ลดลง 2.0) ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 73.9 จากระดับ 73.3 (เพิ่มขึ้น 0.6)
อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่เนื่องจากอยู่ในระดับที่เกินกว่าค่าฐานที่ 50 จึงสะท้อนว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดี โดยปัจจัยเกื้อหนุน คือ มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น ทั้งการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของต่างชาติที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวน 2.33 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเซียโดยเฉพาะจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลี และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET Index อยู่ที่ 1,541.58 จุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 67.38 เช่นเดียวกับการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและสถานการณ์ด้านการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2556 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีลดลง โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 43.1 จากระดับ 45.2 (ลดลง 2.1) รองลงมาคือภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 45.5 จากระดับ 46.7 (ลดลง 1.2) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 45.9 จากระดับ 46.5 (ลดลง 0.6) ขณะที่ภาคเหนือ และกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 49.7 และ 45.2 จากระดับ 49.5 และ 45.1 (เพิ่มขึ้น 0.2 และ 0.1) ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่น TSSI (SMEs)
ประจำเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2556
ภาคธุรกิจ ม.ค.56 ก.พ.56 ผลต่าง
เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
M F3 M F3 M F3
รวมภาคการค้าและบริการ 46.6 55.0 46.1 54.4 -0.5 -0.6
ภาคค้าส่งและค้าปลีก 46.7 54.4 46.1 53.9 -0.6 -0.5
ภาคการค้าส่ง 49.5 53.3 47.8 51.9 -1.7 -1.4
ภาคการค้าปลีก 45.7 54.8 45.5 54.6 -0.2 -0.2
ภาคบริการ 46.5 55.9 46.0 55.1 -0.5 -0.8
หมายเหตุ : M = เดือนปัจจุบัน F3= คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า