สยามสแควร์ ร่วมสืบสานประเพณีไทย ชวนวัยรุ่นร่วมใจแต่งผ้าขาวม้าเที่ยวสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Thursday April 11, 2013 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--สนง. จัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ หากเอ่ยถึงเทศกาลเดือนเมษายน ช่วงอากาศร้อนจับใจ และเป็นเทศกาลสำคัญของไทยที่สืบทอดมาช้านาน นั่นคือ “เทศกาลสงกรานต์” ซึ่งตรงกับวันที่ 13 — 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ไทย และวันครอบครัว แต่เดิมประเพณีสงกรานต์ เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไปมาก ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัวอีกด้วย นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ สำหรับนักท่องเที่ยวเอง นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นประเพณีต่าง ๆ ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะถูกหยิบหยกมาเป็นมนต์เสน่ห์ ในการถ่ายทอดออกสู่สายตาประชาชน โดยชาวไทยแต่ละภาคจะมีวัฒนธรรมประเพณี การละเล่นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อาทิเช่น เทศกาลสงกรานต์ล้านนา ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่า “ป๋าเวณี ปี๋ใหม่” มีความหมายตรงกับคำว่า “ประเพณีสงกรานต์” ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 5 วัน ชาวล้านนา เช่น ในวันมหาสงกรานต์ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายน ในวันนี้แต่เช้าตรู่ทุกๆบ้านจะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ซักเสื้อผ้า ปัดฝุ่น เก็บกวาดและเผาขยะมูลฝอยต่างๆ เลือกซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ นำพระพุทธรูปประจำบ้านมาสรงน้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำขมิ้น นำดอกไม้ขึ้นบูชาพระ สำหรับวันถัดมา เรียกว่าวันเนา วันนี้ถือว่าเป็นวันเตรียมงาน ซึ่งชาวบ้านจะออกไปซื้อของกินเพื่อใช้ในวันพระญาวัน เมื่อถึงตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัดเพื่อกองรวมกันทำเป็นเจดีย์ มีการปักธงหรือประดับเจดีย์ทรายด้วยดอกไม้ที่เตรียมมาอีกด้วย ส่วนในวันพระญาวัน จะเป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนา ถือเป็นวันเถลิงศกใหม่ จะมีคนนำเอาสำหรับคาวหวานไปถวายพระตามวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ หรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว และตอนบ่ายจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ขอขมาลาโทษรวมไปถึงการดำหัวพระเจ้า พระพุทธรูปประจำเมืองที่สำคัญ เช่น พระพุทธสิหิงค์ นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยทุกภาค นั่นก็คือ การแต่งกายด้วยผ้าไทย และที่นิยมใส่กันมาก คือ ผ้าขาวม้า เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่คนไทยใช้มาแต่โบราณ ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะเป็นเพศชาย สามารถใช้นุ่งอาบน้ำ เช็ดตัว คลุมหัวกันแดด หรือทำเปลก็ได้ บ้างก็เรียกว่า "ผ้าเคียนเอว" ผ้าขาวม้ามีลักษณะเป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความกว้างประมาณ 2 ศอก ยาวประมาณ 3-4 ศอก โดยมากทอเป็นลายตารางเล็กๆ นิยมใช้ด้ายหลายสี ผ้าขาวม้าในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น ซึ่งคำว่าผ้าขาวม้า เป็นภาษาทางภาคกลาง ส่วนในภาคอีสานบางแห่งเรียกว่าผ้าแพร ซึ่งมักจะได้จากการทอด้วยเครื่องทอผ้าที่เรียกว่า กี่ และจะทอเป็นขนาดยาวประมาณ 20-30 เมตร ต่อการทอแต่ละครั้งแล้วจึงตัดแบ่งออกเป็นผืน ผืนละ 1 วา หรือ ประมาณ 1 เมตรครึ่ง ดังนั้น บางท้องถิ่นจึงเรียกว่าผ้าแพรวา เรียกตามความยาวของผ้าแต่ละผืน"ผ้าขาวม้า" เป็นอาภรณ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย โดยนิยมใช้กันทั่วๆไปโดยเฉพาะตามชนบท สยามสแควร์ ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทย จัดงาน “สงกรานต์เมษา ผ้าขาวม้ารวมไทย” ระหว่างวันที่13-15 เมษายน 2556 เวลา 12.00 น. — 18.00 น. โดยได้รวบรวมกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ของไทยทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมไทย การร่วมสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ เป็นประเพณีที่งดงามของชาวมอญ กิจกรรมขบวนแห่มหาสงกรานต์ ๔ ภาค กิจกรรมส่งเสริมความรู้เทศกาลสงกรานต์ อาทิ สงกรานต์พื้นเมืองดั้งเดิมของชาวล้านนา ประเพณีบุญเดือนห้าของชาวอีสาน เถลิงศกมหาสงกรานต์ภาคกลาง และประเพณีวันว่างของภาคใต้ นอกจากนี้มีการสาธิตการทำอาหารคาวหวานในเทศกาลสงกรานต์ และกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ มากมาย แต่ที่เป็นไฮไลท์ของงานนี้ คือการเชิญชวนผู้ที่จะมาร่วมสงกรานต์แต่งกายผ้าขาวม้า ซึ่งสามารถที่จะดีไซด์ให้เหมาะสมกับตัวเอง อาทิ กระโปรงผ้าขาวม้า หมวกลายผ้าขาวม้า กางเกงลายผ้าขาวม้า เป็นต้น หรือถ้าใครอยากเท่ห์จะเอาม้าขาวม้ามัดเอวแบบต้นตำรับก็ไม่ว่ากัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าสยามสแควร์ จะเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นไทยหัวใจผ้าขาวม้าที่ใหญ่ที่สุดอย่างแน่นอน ใครสนใจเชิญมาร่วมสนุกกันได้สยามสแควร์ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2556 เวลา 12.00 น. — 18.00 น. ที่สยามสแควร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ