กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--กรมป่าไม้
กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินกิจกรรมในโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการในการควบคุมไฟป่า ที่ ป่าชุมชนบ้านต้นต้อง หมู่ที่ 5 ตำบลพิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อให้กำลังใจแก่คนในชุมชน และแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดูแลรักษาป่าไม้
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลสั่งการให้วางมาตรการป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเน้นหลักการทำงาน 2P 2R เน้นเรื่องป้องกัน เตรียมพร้อม รับมือและฟื้นฟู พร้อมวางมาตรการการปฏิบัติ โดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการห้ามไม่ให้มีการจุดไฟเผา เน้นมาตรการที่ 1 ไม่ให้มีการเผาวัสดุ หรือเผาในที่โล่งในช่วง 100 วันอันตราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2556 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2556 มาตรการที่ 6 คือการแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันหรือจุด Hot Spot ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และมาตรการที่ 8 การจัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขมลพิษหมอกควันภาคเหนือ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการควบคุมไฟป่าและควบคลุมหมอกควัน โดยเริ่มตั้งเเต่การป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้น โดยเฉพาะการให้หมู่บ้านในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าเข้ามาร่วมกิจกรรมป้องกันไฟป่าในโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการในการควบคุมไฟป่า โดยกรมป่าไม้มีการอบรมให้ราษฎรได้รับความรู้ ความเข้าใจถึงอันตรายและผลกระทบที่เกิดจากการทำลายป่าไม้และจากไฟป่า และแนะนำวิธีการดับไฟป่าอย่างถูกวิธี รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 100,000 บาท โดยงบประมาณจำนวนดังกล่าว กำหนดให้ชุมชนนำไปดำเนินการในส่วนของการทำแนวกันไฟทุกหมู่บ้าน มีการจัดชุดลาดตระเวนไฟ และจัดหาอุปกรณ์ในการดับไฟ เพื่อให้เครือข่ายสามารถปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และในปีงบประมาณ 2556 กรมป่าไม้ตั้งเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า จำนวน 100 เครือข่าย ซึ่งวิธีการสร้างเครือข่ายนี้จะเป็นการสร้างความเข้มเเข็มของชุมชน และให้ราษฎรในพื้นที่มีจิตสำนึกที่ดีในการดูแลรักษาป่าในชุมชน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า กรมป่าไม้ ได้ติดตามผลการดำเนินงานของป่าชุมชนบ้านต้นต้อง ปรากฏว่าภายหลังจากที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมป่าไม้แล้ว ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่น มีความเห็นตรงกันว่า การสร้างเครือข่ายให้ได้ผลสูงสุด คือ การรวมตัวกันของทุกชุมชนในพื้นที่ ซึ่งมีที่ตั้งติดต่อกับป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยางและป่าแม่อาง จึงชวนหมู่บ้าน 6 หมู่บ้านมาร่วมกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการป้องกันไฟป่าของกรมป่าไม้ และร่วมกันจัดทำกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การทำฝายชะลอน้ำ การปลูกป่าเสริม ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องโดยการทำฝายชะลอน้ำได้ทำไปแล้วประมาณ 600 — 700 ตัว โดยมีอาสาสมัครของหมู่บ้านและภาคเอกชนต่าง ๆ มาร่วม มีการทำแนวกันไฟทุกปี ซึ่งผลของการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ส่งผลมาในรูปของสภาพป่าที่เริ่มมีความสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น ต้นไม้จากที่เคยถูกตัดปีละจำนวนเป็นพัน ๆ ต้น ปัจจุบัน ถูกลักลอบตัดปีละไม่เกิน 20 — 30 ต้น ไฟป่าซึ่งเคยเกิดขึ้นทุกปีมีจำนวนน้อยลงทุกปี สภาพป่าเริ่มฟื้นตัว สัตว์ป่าเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและประสบผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้นไฟป่าจึงเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา และชุมชนบ้านต้นต้องนับเป็นชุมชนตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่นได้อย่างดีเยี่ยม