BMB9: ปฏิทิน ธ.ศรีนคร ประจำปี 2541

ข่าวทั่วไป Thursday December 18, 1997 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--18 ธ.ค.--ธ.ศรีนคร
บมจ.ธนาคารศรีนคร เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และอนุรักษ์มรดกโลก ด้วยการจัดทำปฏิทินและการ์ดอวยพรที่สร้างสรรค์สังคม มรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติของประเทศไทย ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นมรดกโลก เพื่อมอบเป็นอภินันทนาการแก่ลูกค้า ประชาชน และผู้มีอุปการคุณ ในช่วงเปิดศักราชใหม่ ปี 2541 ที่กำลังจะถึงในเร็วๆ นี้
นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารศรีนคร เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2541 นี้ ธนาคารฯ ได้จัดทำปฏิทินแขวน ปฏิทินตั้งโต๊ะ และส.ค.ส. เพื่อมอบเป็นของขวัญตอบแทนแก่ลูกค้า และผู้มีอุปการคุณ ที่ได้ให้การสนับสนุนและใช้บริการของธนาคารฯ มาโดยตลอด ซึ่งธนาคารฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและสำนึกอยู่เสมอ ในการที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมอันเป็นประโยชน์อย่างมีคุณค่าให้แก่สังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ธนาคารฯ ได้กระทำมาโดยตลอด สำหรับผลงานสร้างสรรค์ปฏิทินธนาคารศรีนครในรูปแบบปฏิทินแขวนภายใต้ชื่อชุด "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น" ซึ่งมีแนวความคิดจากความหมายของทั้ง 9 รัชกาล และในแต่ละรัชกาลนั้น ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชการที่ 9 และภาพที่นำเสนอนั้น เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์จากต้นฉบับ ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาต ให้ถ่ายทำเป็นภาพปฏิทินครบทุกพระองค์ ในส่วนเบื้องหลังภาพพระบรมฉายาลักษณ์นั้น เป็นสถานที่สำคัญที่สร้างขึ้นในแต่ละรัชกาล และเป็นผลงานเด่น โดยเฉพาะรัชกาลที่ 8 ทรงเสด็จประพาสสำเพ็งเมื่อปี พ.ศ. 2489 เข้าสู่ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ได้ใกล้ชิดประชาชน ในส่วนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ผลงานของพระองค์ท่านมีมากมาย แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงในด้านการประดิษฐ์คิดค้นคือ กังหันชัยพัฒนา ได้ทรงคิดค้นแบบเครื่องกลที่นำมาใช้บำบัดน้ำเสียให้กรมชลประทาน และได้รับการจดลิขสิทธิ์และการรับรองจากทั่วโลกว่าเป็นเครื่องกลที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม จนได้รับการถวายรางวัลเครื่องประดิษฐ์ดีเด่นจากคณะกรรมการสสถาบันวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2536 เป็นต้น ในส่วนของสีที่ใช้กับภาพเป็นสีซีเบียร์ แสดงถึงความเก่าแก่มีอายุยาวนานของราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ภาพชุด "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น" ได้รับแนวความคิดและตั้งชื่อจากรองศาสตราจารย์ สุนีย์ สินธุเดชะ
ปฏิทินตั้งโต๊ะ ภายใต้ใช้ชื่อชุด "มรดกโลก" ซึ่งมีแนวคิดมาจากสืบสานเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและรักษาทรัพยากรของชาติอย่างต่อเนื่องมาจากการทำปฏิทินชุด "รอยไทย" เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของแหล่งวัฒนธรรมของไทยที่เข้าข่ายมรดกโลก ซึ่งจะต้องเป็นของแท้ดั้งเดิม มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีรูปแบบพิเศษทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรม
ซึ่งได้รับการยกย่องจาก "คณะกรรมการมรดกโลก" องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ว่ามีมรดกโลกถึง 7 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, กำแพงเพชร, และนครประวัติศาสตร์อยุธยา ที่ล้วนแสดงถึงความโดดเด่นแห่งเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาและความสามารถอันชาญฉลาดของบรรพชนไทย ที่ได้สร้างสรรค์ไว้อย่างปราณีต สามารถถ่ายทอดความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดี บ้านเชียง จ.อุดรธานี ที่สามารถปั้นดินเผาและเขียนลายสีได้อย่างสวยงาม จนมีชื่อเสียงและรู้จักไปทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีมรดกทางธรรมชาติอีก 2 แห่ง ที่มีความงดงามตามธรรมชาติและระบบนิเวศน์วิทยา เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่หายาก คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี รูปแบบการนำเสนอปฏิทินชุด "มรดกโลก" เป็นภาพพร้อมคำบรรยายที่ได้จัดพิมพ์ 3 ภาษา คือ ไทย จีน และอังกฤษ
สำหรับ การ์ดอวยพร ธนาคารฯ ได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ เป็นผู้วาดภาพ และให้ความหมาย และรองศาสตราจารย์สุนีย์ สินธุเดชะ เป็นผู้แต่งคำกลอนและตั้งชื่อภาพ ได้จัดทำเป็น 2 รูปแบบ คือแบบแนวตั้งภายใต้ชื่อภาพ "ศรีนครร่มเย็นเน้นพัฒนา" นำเสนอเป็นรูปต้นไม้ใหญ่มีสัญญลักษณ์ของธนาคารศรีนครเป็นลายเส้นอยู่ในภาพแสดงถึงการให้ความสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันในด้านธุรกิจ ความร่มเย็นเป็นสุขและมั่นคง แข็งแรง ส่วนแบบแนวนอนภายใต้ชื่อภาพ "สุริยะศรีคู่โลก ศรีนครคู่เมือง" ซึ่งลักษณะภาพเป็นรูปพระอาทิตย์กำลังขึ้น มีความหมารว่าศรีนครอยู่คู่กับคุณ-คุณจะเห็นศรีนครเหมือนกับเห็นพระอาทิตย์ขึ้นในทุก ๆ ยามเช้า (ความมั่นคง) และในอีกความหมายหนึ่งคือ ศรีนครเป็นผู้ให้เสมือนประโยชน์ที่ได้รับจากพระอาทิตย์ คือ ทุก ๆ อย่าง ในส่วนของสีที่ใช้กับภาพ ส.ค.ส. นั้นเป็นสีโทนเย็น ที่มองดูแล้วให้ความรู้สึกสบายตา
นายวิเชียรฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากปฏิทินสากลแล้ว ธนาคารฯ ยังได้จัดทำปฏิทินอิสลามเพื่อพี่น้องชาวมุสลิมได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งธนาคารฯ เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ริเริ่มจัดทำปฏิทินอิสลามทั้งปีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา การเลือกมัสยิดเพื่อเป็นแบบปฏิทินนั้นในแต่ละปีจะไม่ซ้ำกัน และจะไม่ซ้ำกับสถาบันอื่น ซึ่งในปี 2541 ธนาคารฯ เลือกมัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ (หัวหมากน้อย) มัสยิดเก่าแก่ ตั้งอยู่ย่านรามคำแหง เขตบางกะปิ เป็นแบบในการจัดทำปฏิทินประจำปี 2541 นี้
อนึ่ง การจัดทำปฏิทินแขวน ปฏิทินตั้งโต๊ะ และการ์ดอวยพร ในปี 2541 นี้ ธนาคารฯ ได้รับแนวความคิดและการให้คำปรึกษารวมทั้งพิจารณาคัดเลือกภาพจากรองศาสตราจารย์ สุนีย์ สินธุเดชะ หรือเป็นที่รู้จักกันในนามอาจารย์แม่ อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาไทยและศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการพิมพ์ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งท่านได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแห่งชาติ สาขาภาพพิมพ์ เป็นผู้ให้คำปรึกษาจนการจัดทำปฏิทินและการ์ด อวยพร ในปีนี้สามารถสำเร็จไปได้ด้วยดี โดยธนาคารฯ จะนำออกแจกอภินันทนาการแก่ลูกค้า และผู้อุปการคุณ ประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ นายวิเชียรฯ กล่าวในที่สุด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ