กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
อินเทล ดีเวลล็อปเปอร์ ฟอรั่ม: เปลี่ยนรูปแบบการประมวลผลจากอุปกรณ์สู่ระบบคลาวด์อินเทลเร่งผลิตนวัตกรรมโปรเซสเซอร์ขนาด 22 นาโนเมตรสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งกราฟิก และ อินเทล ไวร์เลส ดิสเพลย์ เพื่อใช้กับอัลตร้าบุ๊กเจนเนอเรชั่นถัดไป
ประเด็นข่าว
เร่งผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์โปรเซสเซอร์สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตขนาด 22 นาโนเมตรใหม่ล่าสุดของอินเทล
ตั้งเป้าในการปฏิวัติการออกแบบเซิร์ฟเวอร์แร็กโดยเสนอ อินเทล แร็ค สเกล อาร์คิเทคเจอร์ (Intel rack scale architecture) เพื่อเพิ่มความคล่องตัว ความจุ และการใช้ประโยชน์จากเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนลดลง
จัดส่งตัวอย่าง อินเทล อะตอม โปรเซสเซอร์ แบบ 64 บิต รุ่นใหม่เพื่อใช้กับไมโครเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งมีชื่อรหัสว่า “Avoton” ไปให้ลูกค้าแล้ว และคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายในวงกว้างได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้
อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 4 เริ่มถูกนำส่งไปถึงมือลูกค้าแล้ว และจะเริ่มเปิดตัวภายในไตรมาสนี้
ในช่วงของการจัดงาน อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรั่ม ประจำปีภายในสัปดาห์นี้ ผู้บริหารของอินเทล คอร์ปอเรชั่น ได้มีการประกาศเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่และความร่วมมือกับพันธมิตร โดยตั้งเป้าหมายเพื่อเปลียนวิธีการใช้เทคโนโลยีของผู้คนซึ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงจากอุปกรณ์ไปยังระบบคลาวด์เป็นหลัก การเปิดตัวต่างๆ ในครั้งนี้ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์รุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 22 นาโนเมตร และ อินเทล แร็ค สเกล อาร์คิเทคเจอร์ แบบใหม่ พร้อมทั้งรายละเอียดของโปรเซสเซอร์ในตระกูล อินเทล คอร์ เจนเนอเรชั่น 4 ซึ่งจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ด้วย
ไดแอน ไบรอัน รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป แผนกดาต้าเซ็นเตอร์ และแผนกระบบเชื่อมต่อของ อินเทล กล่าวในช่วงการบรรยายโดยให้ความสำคัญต่อดาต้าเซ็นเตอร์ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการประมวลผลส่วนตัวที่น่าทึ่งกว่าเดิม เพื่อรองรับการจัดสรรข้อมูลและบริการต่างๆ แบบเรียลไทม์ นอกจากนั้น ไบรอันยังพูดถึงขั้นตอนที่อินเทลใช้เพื่อจัดเตรียมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของอุปกรณ์อัจฉริยะและโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ข้อมูลต่างๆ
“ผู้คนต่างต้องการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ต่างๆ ของตนเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านแอพพลิเคชั่นและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานจากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ใดก็ตามที่พวกเขาต้องเดินทางไป” ไบรอันกล่าว “อินเทลนำเสนอพอร์ตโฟลิโอของฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีประมวลผลซอฟต์แวร์หลากชนิด ตั้งแต่อุปกรณ์ไปจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์ที่ช่วยปรับปรุงรูปแบบการใช้งานและส่งเสริมให้เกิดบริการใหม่ๆ ด้วย”
ไบรอันเปิดเผยแผนงานเร่งความเร็วในการขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์ของอินเทลให้ครอบคลุมโปรเซสเซอร์ในระดับดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นตอนการผลิตแบบ 22 นาโนเมตรก่อนที่จะถึงปลายปีนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานศูนย์ข้อมูลที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม พอร์ตโฟลิโอด้านทรัพย์สินทางปัญญาของระบบดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่มากมายของอินเทล ช่วยให้ทางบริษัทสามารถผสานคุณสมบัติต่างๆ เข้าไปในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ จึงทำให้สามารถนำออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น อินเทลเปิดตัวโปรเซสเซอร์ตระกูลอินเทลอะตอม S12x9 รุ่นใหม่ ที่ปรับแต่งมาสำหรับระบบจัดเก็บข้อมูลในปัจจุบันโดยเฉพาะ โดยใช้เวลาแค่สี่เดือนเท่านั้นหลังจากเปิดตัวโปรเซสเซอร์อินเทล อะตอม S1200 สำหรับไมโครเซิร์ฟเวอร์
อินเทลวางแผนที่จะจำหน่าย อินเทล อะตอม โปรเซสเซอร์ อีกสองรุ่นภายในปีนี้ ซึ่งโปรเซสเซอร์ดังกล่าวจะใช้โครงสร้างใหม่และมีประสิทธิภาพต่อวัตต์ที่ดีกว่าเดิมและมีชุดคุณสมบัติเพิ่มขึ้น ไบรอันทำการสาธิตอินเทลอะตอม โปรเซสเซอร์ รุ่นใหม่สำหรับไมโครเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า “Avoton” เป็นครั้งแรกในงานนี้ และยืนยันว่าในตอนนี้ได้เริ่มส่งมอบโปรเซสเซอร์ตัวอย่างไปให้ลูกค้าเพื่อทำการทดสอบแล้ว Avoton จะมีอีเธอร์เน็ตคอนโทรลเลอร์ในตัว และคาดว่าจะมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีประสิทธิภาพต่อวัตต์สำหรับไมโครเซิร์ฟเวอร์ที่ดีขึ้น และขยายขอบเขตของระบบเพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นได้มากขึ้นด้วย
แปลงโครงสร้างดาต้าเซ็นเตอร์
นอกจากนั้น ไบรอันยังเปิดเผยรายละเอียดแผนงานของอินเทลเกี่ยวกับการพัฒนางานออกแบบอ้างอิงสำหรับ แร็ค สเกล อาร์คิเทคเจอร์ (rack scale architecture) ที่ใช้ชุดเทคโนโลยีต่างๆ ของอินเทลเพื่อติดตั้งใช้งานเป็นแร็กเต็มรูปแบบโดยเฉพาะ เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์ที่ขยายขอบเขตได้มากเป็นพิเศษแบบนี้มักอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทที่มีเซิร์ฟเวอร์หลายพันเครื่องและจัดเก็บข้อมูลปริมาณมหาศาล ซึ่งต้องการงานออกแบบแร็กที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้รับมือกับการเติบโตของผู้ใช้ ข้อมูล และอุปกรณ์จำนวนมากได้อย่างคุ้มค่าและง่ายดายกว่าเดิม ระบบแร็กรุ่นเก่าถูกออกแบบมาให้จัดการกับปริมาณงานของแอพพลิเคชั่นหลากชนิด แต่มักไม่สามารถจัดสรรประสิทธิภาพในระดับสูงสุด ภายใต้รูปแบบใช้งานที่มีการขยายระบบสูงมากอยู่ตลอดเวลา งานออกแบบอ้างอิงจะช่วยเปลี่ยนโครงสร้างโซลูชั่นระดับแร็ก ซึ่งอยู่ในสภาพของโมดูลในระดับระบบย่อย (ระบบจัดเก็บข้อมูล ซีพียู ระบบความจำ ระบบเครือข่าย) พร้อมกับจะมีความสามารถในการจัดสรร รีเฟรช หรือจัดสรรทรัพยากรแบบโลจิคอลโดยอิงกับเงื่อนไขปริมาณงานของแอพลิเคชั่นโดยเฉพาะ คุณประโยชน์ที่ได้ประกอบด้วย ความคล่องตัวที่เพิ่มขึ้น ความจุที่สูงขึ้น และอัตราการใช้ประโยชน์ที่สูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การลงทุนเฉลี่ยที่ลดลงนั่นเอง
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ นี้ รวมทั้งข้อมูลของอินเทล อะตอมโปรเซสเซอร์ S12x9 รุ่นใหม่ สำหรับเซิร์ฟเวอร์ระบบจัดเก็บข้อมูล ผลิตภัณฑ์ตระกูลอินเทล? ซีออน? โปรเซสเซอร์ E3v3 ผลิตภัณฑ์ตระกูลอินเทลซีออนโปรเซสเซอร์ E7v2 และอินเทล อะตอม โปรเซสเซอร์สำหรับอุปกรณ์สื่อสารและระบบเครือข่ายที่ใช้ชื่อรหัสว่า “Rangeley” ได้ที่ตารางสรุปข่าว
แปลงสภาพรูปแบบการใช้ระบบการประมวลผล
เคิร์ก สกาวเกน รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปแผนกดูแลลูกค้ากลุ่มพีซีของอินเทลกล่าวว่า ในตอนนี้ทางบริษัทกำลังส่งตัวอย่าง อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 4 ไปให้ลูกค้าระดับโออีเอ็ม และจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ภายในไตรมาสนี้
“อัลตร้าบุ๊กที่ใช้อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 4 จะมีรูปแบบการประมวลผลแบบใหม่ที่น่าตื่นเต้นมากกว่าเดิม แถมยังมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงความสามารถในการใช้แบตเตอรี่ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของอินเทลเลยก็ว่าได้” สกาวเกนกล่าว “นอกจากนั้นอัลตร้าบุ๊กรุ่นใหม่ยังช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสสัมผัสกับอุปกรณ์แบบ “สองรูปแบบในหนึ่งเดียว” ที่เป็นแบบคอนเวอร์ทิเบิลและแบบแยกชิ้น (Detachable) ที่เป็นการรวมข้อดีของรูปแบบการใช้พีซีเต็มประสิทธิภาพกับข้อดีของแท็บเล็ตในโครงสร้างแบบใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าเดิมอีกด้วย”
สถาปัตยกรรมระดับไมโครของ อินเทล คอร์ รุ่นใหม่ จะช่วยให้อินเทลพัฒนากราฟิกที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น โซลูชั่นกราฟิกรุ่นใหม่ยังจะมีรูปแบบการผสานการทำงานระดับใหม่ที่รองรับการใช้งานในโครงสร้างและการออกแบบอุปกรณ์แนวใหม่ ที่มีระบบแสดงผลคุณภาพสูงภายในตัวอีกด้วย สกาวเกนทำการสาธิตระบบกราฟิกที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในงานออกแบบอ้างอิง อัลตร้าบุ๊กที่ใช้อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 4 ที่ชื่อรหัสว่า “Harris Beach” การสาธิตใช้เกมชื่อดังอย่าง Dirt 3* ที่นำเสนอรูปแบบการแสดงผลและการเล่นเกมได้ในระดับเดียวกับการ์ดกราฟิกที่ปกติผู้ใช้ต้องซื้อแยกต่างหาก นอกจากนั้นเขายังทำการสาธิตโน้ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมที่ใช้อินเทล หรือ อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์เจนเนอเรชั่น 4 ที่มีชื่อรหัสว่า “Niagara” โดยการเล่นเกม Grid 2* จากบริษัท Code Masters* ได้ โดยที่ไม่ต้องใช้การ์ดกราฟิกแยกต่างหากอีกด้วย
นอกเหนือจากคุณสมบัติเรื่องหน้าจอสัมผัสแล้ว Intel? Wireless Display (Intel WiDi) จะกลายเป็นคุณสมบัติมาตรฐานของอุปกรณ์อัลตร้าบุกที่ใช้อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 4 เพื่อช่วยให้ผู้คนส่งสตรีม คอนเทนท์และแอพพลิเคชั่นส์จากตัวอุปกรณ์ไปยังจอภาพขนาดใหญ่ได้อย่างปลอดภัยและไม่ต้องยุ่งยากเรื่องสายเคเบิลอีกต่อไป สกาวเกนกล่าวว่าชุมชนนักพัฒนาในประเทศจีนเป็นผู้นำในการนำเอา Intel WiDi ไปใช้กับระบบต่างๆ โดยเขายังประกาศอีกว่าผู้ผลิตโทรทัศน์ชั้นนำในจีนอย่าง TCL* ได้ผลิตโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยี Intel WiDi ในตัวแล้ว นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์รับสัญญาณรุ่นใหม่ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน Intel WiDi จาก QVCD* และ Lenovo” และกล่องแปลงสัญญาณ (set top box) จาก Gehua* อีกด้วย
สกาวเกนสาธิตความก้าวหน้าเรื่องการประหยัดพลังงานในตัวอัลตร้าบุ๊กอย่าง Toshiba Portege แบบแยกชิ้น ที่ใช้อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 แบบประหยัดพลังงานรุ่นใหม่
ยิ่งไปกว่านั้น สกาวเกนยังเปิดตัวระบบรับคำสั่งโดยใช้เสียงเป็นภาษาจีนแมนดารินในอัลตร้าบุ๊กจากอินเทลและ Nuance* อีกด้วย
สกาวเกนเน้นย้ำว่าอินเทลมีระบบประมวลผลสำหรับทุกระดับราคา โดยเขาได้ประกาศแผนการบุกตลาดใหม่ผ่านทาง SoC แบบ 22 นาโนเมตร ที่มีรหัสว่า Bay Trail ที่มีชุดคุณสมบัติระดับพีซีที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องคอนเวอร์ทิเบิลราคาประหยัด โน้ตบุ๊กแบบมีฝาพับ เดสก์ท้อป และคอมพิวเตอร์ออลอินวันราคาประหยัด ที่จะเริ่มจำหน่ายภายในปลายปีนี้
โมไบล์ อินไซด์
แทน วัง กวน รองประธานและผู้จัดการทั่วไปแผนกกลุ่มโมไบล์คอมมูนิเคชั่นส์ อินเทล ประเทศจีน กล่าวว่า ทางบริษัทกำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนารูปแบบการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ดีที่สุดภายใต้โลโก้ อินเทล อินไซด์ โดย แทน ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของบริษัทที่เกี่ยวกับการพัฒนาอินเทล อะตอมโปรเซสเซอร์ Z2580 (ชื่อรหัสว่า “Clover Trail+”) สำหรับสมาร์ทโฟน และ อินเทล อะตอม โปรเซสเซอร์ Z2760 (ชื่อรหัสว่า “Clover Trail”) สำหรับแท็บเล็ต ซึ่งโปรเซสเซอร์ทั้งสองรุ่นเข้ามาส่งเสริมการพัฒนาอุปกรณ์และรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ
แทน กล่าวว่า สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่นต่อไป ที่ใช้อะตอม ไมโครโปรเซสเซอร์ รุ่นใหม่ล่าสุดซึ่งได้จากขั้นตอนการผลิตแบบ 22 นาโนเมตร จะใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่หลากหลายที่มาพร้อมกับสถาปัตยกรรม อินเทล ความเป็นผู้นำเทคโนโลยีโปรเซสเซอร์ การผลิต และความสามารถรองรับการทำงานของโอเอสหลากชนิดใน วินโดวส์* 8 และแอนดรอยด์* โดยที่อินเทล อะตอม แบบคว๊อตคอร์ SoC (ชื่อรหัสว่า “Bay Trail”) จะเป็น อะตอม โปรเซสเซอร์ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน โดยจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าแท็บเล็ตรุ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันถึงสองเท่า แท็บเล็ตที่ใช้โปรเซสเซอร์ที่มีชื่อรหัสว่า “Bay Trail” จะเริ่มจำหน่ายภายในปลายปีนี้ และจะรองรับรูปแบบการใช้งานและดีไซน์ใหม่ที่มีความบางเพียง 8 มม. พร้อมอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่อยู่ได้ตลอดทั้งวัน และมีโหมดสแตนบายนานหลายสัปดาห์
นอกจากนั้น แทน ยังได้พูดถึงอินเทล อะตอม SoC ที่ใช้ชื่อรหัสว่า “Merrifield” ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายให้ลูกค้าได้ภายในปลายปีนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะทำให้สมาร์ทโฟนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช้ทำงานอย่างคุ้มค่ามากขึ้น และมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้นเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน
แทน สรุปการบรรยายโดยเรียกร้องให้นักพัฒนาชาวจีนหันมาสร้างนวัตกรรมร่วมกันเพื่อช่วยเร่งความเจริญเติบโตให้ตลาดอุปกรณ์โมไบล์ เขาประกาศถึงความตั้งใจของอินเทลที่จะขยายตลาดแพลตฟอร์มในจีนโดยเฉพาะ พร้อมผนึกความร่วมมือในหมู่ชุมชนโดยมุ่งเน้นไปที่แท็บเล็ตที่ใช้อะตอมโปรเซสเซอร์และ ระบบแอนดรอยด์* เป็นหลัก บวกกับงานออกแบบเพื่อทำให้อุปกรณ์โมไบล์ที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นล่าสุดของอินเทลออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น เขาเสริมอีกว่านักพัฒนาชาวจีนมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความพยายามนี้ ในขณะที่ความเร็ว ขอบเขต และผลิตภัณฑ์ขนานแท้จากจีนจะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ไปทั่วโลก
พรีวิวงานไอดีเอฟวันที่สอง
ดั๊ก ฟิชเชอร์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของแผนกซิสเต็มส์ซอฟต์แวร์ของอินเทลจะมาบรรยายในงาน ไอดีเอฟวันที่สอง โดยจะเน้นไปที่ตำนานปริศนาหลายเรื่องในอุตสาหกรรมไอที และจะมีการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโอกาสทองที่รอเหล่านักพัฒนาอยู่ เขาจะอธิบายว่าอินเทลแปลงสภาพจากประสบการณ์ด้านพีซีแล้วหันมาแสวงหาความก้าวหน้าในตลาดอุปกรณ์ได้อย่างไร อินเทลสนับสนุนสภาพแวดล้อมการใช้ระบบปฏิบัติการหลากชนิด และความพยายามที่จะช่วยให้เหล่านักพัฒนาขยายขอบเขตและสร้างความทันสมัยให้ระบบประมวลผลโดยใช้คุณสมบัติใหม่ๆ ที่มีอยู่ในฮาร์ดแวร์ และความก้าวหน้าด้านซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างรูปแบบการใช้งานที่โดดเด่นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังจะพูดถึงการที่นักพัฒนาจะสามารถใช้ประโยชน์จาก HTML 5 เพื่อลดต้นทุนโดยรวมและปรับปรุงเวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดสำหรับการพัฒนาและติดตั้งแอพพลิเคชั่นข้ามแพลตฟอร์มได้อย่างไร การนำเอาระบบสัมผัสและเซ็นเซอร์อินเตอร์เฟซไปสร้างความทันสมัยให้แอพพลิเคชั่น และการใช้เทคโนโลยีระบบประมวลผลการรับรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคติดต่อกับพีซีผ่านระบบควบคุมโดยใช้เสียง ระบบตีความท่าทาง ระบบติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตา และระบบอื่นๆ อีกมาก
จัสติน แรทเนอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของอินเทลจะมาบรรยายเกี่ยวกับการที่ อินเทล แล็บส์ ได้เตรียมแผนงานเพื่ออนาคตที่สดใสกว่าเดิมเอาไว้แล้ว เขาจะมาเปิดเผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเมืองต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันและพึ่งพาอาศัยกัน โดยเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ อาทิ อากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาด สุขอนามัยที่ดีขึ้น และความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยกว่าเดิม นอกจากนั้นเขาจะอธิบายว่าการใช้ชีวิตภายในเมืองใหญ่มีความต้องการระบบสื่อสารบอร์ดแบนด์ไร้สายที่เร็วขึ้นและมีราคาถูกกว่าเดิมมากแค่ไหน แรทเนอร์กล่าวว่า หลังจากยุคข้อมูลข่าวสารแล้ว เราจะก้าวสู่ยุคใหม่ที่เขาตั้งชื่อว่า “สังคมข้อมูล” เขาจะอธิบายว่าข้อมูลใช้ระบบคลาวด์จะทำงานแทนผู้ใช้ทุกคน ผ่านความร่วมมืออย่างปลอดภัยได้อย่างไร ระบบคลาวด์จะวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูลที่ต่างกันเข้าด้วยกันเพื่อนำเสนอข้อมูลที่มีคุณค่ามากกว่าเดิมให้แก่ผู้คนทั่วไป องค์กร และสังคมโดยรวม แรทเนอร์วางแผนที่จะสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนโดยนำเอาเทคโนโลยี อินเทล ซิลิคอน โฟโตนิกส์ มาเปิดตัวเป็นครั้งแรกอีกด้วย
อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรั่ม
งานไอดีเอฟเป็นการจัดแสดงอุปกรณ์โมบายล์ ระบบดิจิตอล เอ็นเตอร์ไพรซ์ ระบบดิจิตอลโฮม รวมทั้งเทคโนโลยีและงานวิจัยต่างๆ ที่ครอบคลุมไปทั่วโลก งานไอดีเอฟครั้งล่าสุดจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติของจีนระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน ศกนี้ โดยมุ่งเน้นที่ตลาดในจีนโดยเฉพาะ และได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมภายในจีนและผู้นำอุตสาหกรรมของอินเทลในภูมิภาคนี้ งานไอดีเอฟครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ มอสโคเน่ เซ็นเตอร์ เวสต์ ในซานฟรานซิสโก ระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน ศกนี้ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์www.intel.com/idf
ติดต่อ:
สุภารัตน์ โพธิวิจิตร อรวรรณ ชื่นวิรัชสกุล
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
โทรศัพท์: (66 2) 648-6022 โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
e-Mail: suparat.photivichit@intel.com e-Mail: ochuenwiratsakul@carlbyoir.com